Sunday, February 27, 2011

คาถาชินบัญชร โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

คาถาชินบัญชร โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

พระคาถานี้เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ตกทอดมาจากลังกา
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯค้นพบในคัมภีร์โบราณและได้ดัดแปลงแต่งเติมให้ดีขึ้นเป็นเอกลักษณ์พิเศษ
ผู้ใดสวดภาวนาพระคาถานี้เป็นประจำสม่ำเสมอจะทำให้เกิดความสิริมงคลแก่ตนเอง
ศัตรูไม่กล้ากล้ำกราย มีเมตตามหานิยม ขจัดภัยตลอดจนคุณไสยต่างๆ
ก่อนเจริญภาวนาให้ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วระลึกถึงหลวงปู่โตและตั้งคำอธิษฐานแล้วเริ่มสวด


เริ่มสวด นโม 3 จบ

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ


นึกถึงหลวงปู่โตแล้วตั้งอธิษฐาน

ปุตตะกาโมละเภปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง
อัตถิกาเยกายะญายะ เทวานังปิยะตังสุตตะวา
อิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ
มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ



เริ่มบทพระคาถาชินบัญชร
ชะยาสะนากะตา พุทธา   เชตวา มารัง สะวาหะนัง
จะตุสัจจาสะภัง ระสัง   เย ปิวิงสุ นะราสะภา.


ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา
สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเกเต มุนิสสะรา.


สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง        พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน
สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง      อุเร สัพพะคุณากะโร.


หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะทักขิเณ
โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง    โมคคัลลาโน จะ วามะเก.


ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะ ราหุโล
กัสสะโป จะ มะหานาโม      อุภาสุง วามะโสตะเก.


เกสันเต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโย วะ ปะภังกะโร
นิสินโน สิริสัมปันโน    โสภิโต มุนิปุงคะโว



กุมาระกัสสโป เถโร    มะเหสี จิตตะ วาทะโก
โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง       ปะติฏฐาสิคุณากะโร.


ปุณโณ อังคุลิมาโร จะ อุปาลี นันทะ สีวะลี
เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเต ติละกา มะมะ.


เสสาสีติ มะหาเถรา     วิชิตา ชินะสาวะกา
เอเตสีติ มะหาเถรา     ชิตะวันโต ชิโนระสา
ชะลันตา สีละเตเชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา.


ระตะนัง ปุระโต อาสิ     ทักขิเณ เมตตะ สุตตะกัง
ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง


ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะ สุตตะกัง
อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา


ชินา นานาวะระสังยุตตา  สัตตัปปาการะ ลังกะตา
วาตะปิตตาทะสัญชาตา   พาหิรัช ฌัตตุปัททะวา.


อะเสสา วินะยัง ยันตุ     อะนันตะชินะ เตชะสา
วะสะโต เม สะกิจเจนะ   สะทา สัมพุทธะปัญชะเร.


ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ    วิหะรันตัง มะฮี ตะเล
สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ        เต มะหาปุริสาสะภา.


อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข
ชินานุภาเวนะ    ชิตุปัททะโว
ธัมมานุภาเวนะ   ชิตาริสังโฆ
สังฆานุภาเวนะ   ชิตันตะราโย
สัทธัมมานุภาวะปาลิโต   จะรามิ ชินะ ปัญชะเรติ.


คำแปล
พระพุทธเจ้าและพระนราสภาทั้งหลาย ผู้ประทับนั่งแล้วบนชัยบัลลังก์
ทรงพิชิตพระยามาราธิราชผู้พรั่งพร้อมด้วยเสนาราชพาหนะแล้ว เสวยอมตรสคือ
อริยะสัจธรรมทั้งสี่ประการ เป็นผู้นำสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากกิเลสและกองทุกข์


มี ๒๘ พระองค์คือ พระผู้ทรงพระนามว่า ตัณหังกรเป็นต้น พระพุทธเจ้าผู้จอมมุนีทั้งหมดนั้น


ข้าพระพุทธเจ้าขออัญเชิญมาประดิษฐานเหนือเศียรเกล้า
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่บนศีรษะ
พระธรรมอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง
พระสงฆ์ผู้เป็นอากรบ่อเกิดแห่งสรรพคุณอยู่ที่อก


พระอนุรุทธะอยู่ที่ใจพระสารีบุตรอยู่เบื้องขวา
พระโมคคัลลาน์อยู่เบื้องซ้าย พระอัญญาโกณทัญญะอยู่เบื้องหลัง


พระอานนท์กับพระราหุลอยู่หูขวา
พระกัสสะปะกับพระมหานามะอยู่ที่หูซ้าย


มุนีผู้ประเสริฐคือพระโสภิตะผู้สมบูรณ์ด้วยสิริดังพระอาทิตย์ส่องแสง
อยู่ที่ทุกเส้นขน ตลอดร่างทั้งข้างหน้าและข้างหลัง


พระเถระกุมาระกัสสะปะผู้แสวงบุญทรงคุณอันวิเศษ
มีวาทะอันวิจิตรไพเราะอยู่ปากเป็นประจำ


พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ และพระสีวะลี
พระเถระทั้ง ๕ นี้ จงปรากฏเกิดเป็นกระแจะจุณเจิมที่หน้าผาก


ส่วนพระอสีติมหาเถระที่เหลือผู้มีชัยและเป็นพระโอรส
เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัย แต่ละองค์ล้วน
รุ่งเรืองไพโรจน์ด้วยเดชแห่งศีลให้ดำรงอยู่ทั่วอวัยวะน้อยใหญ่


พระรัตนสูตรอยู่เบื้องหน้าพระเมตตาสูตรอยู่เบื้องขวา
พระอังคุลิมาลปริตรอยู่เบื้องซ้าย พระธชัคคะสูตรอยู่เบื้องหลัง


พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร
เป็นเครื่องกางกั้นดุจหลังคาอยู่บนนภากาศ


อนึ่งพระชินเจ้าทั้งหลาย นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วนี้
ผู้ประกอบพร้อมด้วยกำลังนานาชนิด มีศีลาทิคุณอันมั่นคง
สัตตะปราการเป็นอาภรณ์มาตั้งล้อมเป็นกำแพงคุ้มครองเจ็ดชั้น


ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้าไม่ว่าจะทำกิจการใดๆ
เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในพระบัญชรแวดวงกรงล้อม
แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอโรคอุปัทวะทุกข์ทั้งภายนอกและภายใน
อันเกิดแต่โรคร้าย คือ โรคลมและโรคดีเป็นต้น
เป็นสมุฏฐานจงกำจัดให้พินาศไปอย่าได้เหลือ


ขอพระมหาบุรุษผู้ทรงพระคุณอันล้ำเลิศทั้งปวงนั้น
จงอภิบาลข้าพระพุทธเจ้า ผู้อยู่ในภาคพื้น ท่ามกลางพระชินบัญชร
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการคุ้มครองปกปักรักษาภายในเป็นอันดีฉะนี้แล


ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการอภิบาลด้วยคุณานุภาพแห่งสัทธรรม
จึงชนะเสียได้ซึ่งอุปัทวอันตรายใดๆ ด้วยอานุภาพแห่งพระชินะพุทธเจ้า
ชนะข้าศึกศัตรูด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ชนะอันตรายทั้งปวงด้วยอานุภาพ
แห่งพระสงฆ์ ขอข้าพระพุทธเจ้าจงได้ปฏิบัติ และรักษาดำเนินไปโดยสวัสดีเป็นนิจนิรันดรเทอญฯ

Monday, February 21, 2011

๑๐. เ ว ส สั น ด ร ช า ด ก

ระเจ้าสญชัย ทรงครองราชสมบัติเมืองสีพี มีพระมเหสีทรงพระนามว่า พระนางผุสดี ธิดาพระเจ้ากรุงมัททราช พระนางผุสดีนี้ในชาติก่อนๆ ได้เคยถวายแก่นจันทน์หอม เป็นพุทธบูชาและอธิษฐานขอให้ได้เป็นพุทธมารดาพระพุทธเจ้าในกาลอนาคต ครั้นเมื่อนางสิ้นชีวิตก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลก เมื่อถึงวาระที่จะต้องจุติมาเกิดในโลกมนุษย์ พระอินทร์ได้ประทานพรสิบประการแก่นาง ครั้นเมื่อพระนางผุสดีทรงครรภ์ใกล้กำหนดประสูติ พระนางปรารถนาไปเที่ยวชมตลาด ร้านค้า บังเอิญในขณะเสด็จประพาสนั้น พระนางทรงเจ็บครรภ์และประสูติพระโอรสในบริเวณย่านนั้น พระโอรสจึงทรงพระนามว่า เวสสันดร หมายถึง ในท่ามกลางระหว่างย่านค้าขาย พร้อมกับที่พระโอรสประสูติ ช้างต้นของพระเจ้าสญชัยก็ตกลูกเป็นช้างเผือกเพศผู้ได้รับชื่อว่า ปัจจัยนาค เป็นช้างต้นคู่บุญพระเวสสันดร

   เมื่อพระกุมารเวสสันดรทรงเจริญวัยขึ้น ทรงมีพระทัยฝักใฝ่ในการบริจาคทาน มักขอพระราชทานทรัพย์จากพระบิดามารดา เพื่อบริจาคแก่ประชาชนอยู่เป็นนิตย์ ทรงขอให้พระบิดาตั้งโรงทานสี่มุมเมือง เพื่อบริจาคข้าวปลาอาหารและสิ่งของจำเป็น แก่ประชาชน และหากมีผู้มาทูลขอสิ่งหนึ่ง สิ่งใด พระองค์ก็จะทรงบริจาคให้โดยมิได้เสียดาย ด้วยทรงเห็นว่า การบริจาคนั้นเป็นกุศลเป็นคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ทั้งแก่ผู้รับและผู้ให้ ผู้รับก็จะพ้นความเดือดร้อน ผู้ให้ก็จะอิ่มเอิบเป็นสุขใจที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น และยังทำให้พ้นจากความโลภความตระหนี่ถี่เหนียวในทรัพย์สมบัติของตนอีกด้วย พระเกียรติคุณของพระเวสสันดรเลื่องลือไปทั่วทุกทิศว่าทรงมีจิตเมตตาแก่ผู้อื่นมิได้ ทรงเห็นแก่ความสุขสบายหรือเห็นแก่ทรัพย์สมบัติส่วนพระองค์ มิได้ทรงหวงแหนสิ่งใด ไว้สำหรับพระองค์

   อยู่มาครั้งหนึ่งในเมืองกลิงคราษฏร์เกิดข้าวยากหมายแพงเพราะฝนแล้ง ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ ราษฎร์อดอยากได้รับความเดือนร้อนสาหัส ประชาชน ชาวกลิงคราษฏร์พากันไปเฝ้าพระราชา ทูลว่าในเมืองสีพีนั้นมีช้างเผือกคู่บุญพระเวสสันดร ชื่อว่า ช้างปัจจัยนาค เป็นช้างมีอำนาจพิเศษ ถ้าอยู่เมืองใด จะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์จะบริบูรณ์ ขอให้พระเจ้ากลิงคราษฏร์ ส่งทูตเพื่อไปทูลขอช้างจากพระเวสสันดร พระเวสสันดรก็จะทรงบริจาคให้เพราะพระองค์ไม่เคยขัดเมื่อมีผู้ทูลขอสิ่งใด
     พระเจ้ากลิงคราษฏร์จึงส่งพราหมณ์แปดคนไปเมืองสีพี ครั้นเมื่อพราหมณ์ได้พบ พระเวสสันดรขณะเสด็จประพาสพระนคร ประทับบนหลังช้างปัจจัยนาค พราหมณ์จึง ทูลขอช้างคู่บุญเพื่อดับทุกข์ชาวกลิงคราษฏร์ พระเวสสันดรก็โปรดประทานให้ตามที่ขอ ชาวสีพีเห็นพระเวสสันดรทรงบริจาคช้างปัจจัยนาคคู่บ้านคู่เมืองไป ดังนั้น ก็ไม่พอใจ พากันโกรธเคืองว่าต่อไปบ้านเมืองจะลำบาก เมื่อไม่มีช้างปัจจัยนาคเสียแล้ว

   จึงพากันไปเข้าเฝ้าพระเจ้าสญชัย ทูลกล่าวโทษพระเวสสันดรว่าบริจาคช้างคู่บ้านคู่เมือง แก่ชาวเมืองอื่นไป ขอให้ขับพระเวสสันดรไปเสียจากเมืองสีพี พระเจ้าสญชัยไม่อาจขัดราษฏรได้ จึงจำพระทัยมีพระราชโองการให้ขับพระเวสสันดร ออกจากเมืองไป พระเวสสันดรไม่ทรงขัดข้อง แต่ทูลขอพระราชทานโอกาสบริจาคทาน ครั้งใหญ่ก่อนเสด็จออกจากพระนคร พระบิดาก็ทรงอนุญาตให้พระเวสสันดรทรงบริจาค สัตสดกมหาทาน คือบริจาค ทานเจ็ดสิ่ง สิ่งละเจ็ดร้อย แก่ประชาชนชาวสีวี
   เมื่อพระนางมัทรี พระมเหสีของพระเวสสันดรทรงทราบว่า ประชาชนขอให้ขับพระเวสสันดร ออกจากเมือง ก็กราบทูลพระเวสสันดรว่า

          "พระองค์เป็นพระราชสวามีของหม่อมฉัน พระองค์เสด็จไปที่ใด หม่อมฉันจะขอติดตาม ไปด้วยทุกหนทุกแห่ง มิได้ย่อท้อต่อความ ลำบาก ขึ้นชื่อว่าเป็นสามีภรรยาแล้ว ย่อมต้องอยู่เคียงข้างกันในทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่ายามสุข หรือทุกข์ โปรดประทานอนุญาติให้หม่อมฉันติดตามไปด้วยเถิด"
     พระเวสสันดรไม่ทรงประสงค์ให้พระนางมัทรี ติดตามพระองค์ไป เพราะการเดินทางไปจากพระนครย่อมมีแต่ความยากลำบาก ทั้งพระองค์ เองก็ทรงปรารถนาจะเสด็จไปประทับบำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ในป่า พระนางมัทรีไม่คุ้นเคยต่อสภาพเช่นนั้น ย่อมจะต้องลำบากยากเข็ญทั้ง อาหารการกินและความเป็นอยู่ แต่ไม่ว่าพระเวสสันดรจะตรัสห้ามปรามอย่างไร นาง ก็มิยอมฟัง บรรดาพระประยูรญาติ ก็พากันอ้อนวอนขอร้อง พระนางก็ทรงยืนกรานว่า จะติดตามพระราชสวามีไปด้วย

     พระนางผุสดีจึงทรงไปทูลขอพระเจ้าสญชัย มิให้ขับพระเวสสันดรออกจากเมืองพระเจ้าสญชัยตรัสว่า
          "บ้านเมืองจะเป็นสุขได้ก็ต่อ เมื่อราษฏรเป็นสุข พระราชาจะเป็นสุขได้ก็ เมื่อราษฏรเป็นสุข ถ้าราษฏรมีความทุกข์ พระราชาจะนิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไร ราษฏรพากัน กล่าวโทษพระเวสสันดรว่าจะทำให้บ้านเมืองยากเข็ญ เราจึงจำเป็นต้องลงโทษ แม้ว่าพระเวสสันดรจะเป็นลูกของเราก็ตาม"

     ไม่ว่าผู้ใดจะห้ามปรามอย่างไร พระนางมัทรีก็จะตามเสด็จพระเวสสันดรไปให้จงได้ พระเจ้าสญชัยและพระนางผุสดีจึงขอเอา พระชาลี พระกัณหา โอรสธิดาของพระเวสสันดรไว้ แต่พระนางมัทรีก็ไม่ยินยอม ทรงกล่าวว่า
          "เมื่อชาวเมืองสีพีรังเกียจพระเวสสันดร ให้ขับไล่ไปเสียดังนี้ พระโอรสธิดาจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร ชาวเมืองโกรธแค้นขึ้นมา พระชาลีกัณหาก็จะทรงได้รับความลำบาก จึงควรที่จะออกจากเมืองไปเสียพร้อม พระบิดาพระมารดา"

     ในที่สุดพระเวสสันดร พร้อมด้วยพระมเหสี และโอรสธิดาก็ออกจากเมืองสีพีไป แม้ใน ขณะนั้นชาวเมืองยังตามมาทูลขอรถพระที่นั่ง ทั้งสี่พระองค์จึงต้องทรงดำเนินด้วยพระบาทออกจากเมืองสีพีมุ่งไปสู่ป่า เพื่อบำเพ็ญพรตภาวนา
     ครั้นเสด็จมาถึงเมืองมาตุลนคร บรรดากษัตริย์เจตราชทรงทราบข่าว จึงพากันมาต้อนรับ พระเวสสันดร ทรงถามถึงทางไปสู่เขาวงกต กษัตริย์เจตราชก็ทรงบอกทางให้และเล่าว่า เขาวงกตนั้นต้องเดินทางผ่านป่าใหญ่ที่เต็ม ไปด้วยอันตรายแต่เมื่อไปถึงสระโบกขรณีแล้ว ก็จะเป็นบริเวณร่มรื่นสะดวกสบาย มีต้นไม้ผล ที่จะใช้เป็นอาหารได้ นอกจากนี้กษัตริย์เจตราช ยังได้สั่งให้ พรานป่าเจตบุตร ซึ่งเป็นผู้ชำนาญ ป่าแถบนั้น ให้คอยเฝ้าระแวดระวังรักษาต้นทาง ที่จะไปสู่เขาวงกต เพื่อมิให้ผู้ใดไปรบกวนพระเวสสันตรในการบำเพ็ญพรต เว้นแต่ทูต จากเมืองสีพีีที่จะมาทูลเชิญเสด็จกลับนครเท่านั้น ที่จะยอมให้ผ่านเข้าไปได้

     เมื่อเสด็จไปถึงบริเวณสระโบกขรณีอันเป็นที่ร่มรื่นสบาย พระเวสสันดร พระนางมัทรี ตลอดจนพระโอรสธิดา ก็ผนวชเป็นฤาษี บำเพ็ญพรตภาวนาอยู่ ณ ที่นั้น โดยมีพรานป่าเจตบุตรคอยรักษาต้นทาง ณ ตำบลบ้านทุนนวิฐ เขตเมืองกลิงคราษฏร์
     มีพราหมณ์เฒ่าชื่อ ชูชก หาเลี้ยงชีพด้วยการ ขอทาน ชูชก ขอทานจนได้เงินมามาก จะเก็บไว้ เองก็กลัวสูญหาย จึงเอาไปฝากเพื่อนพราหมณ์ไว้ อยู่มาวันหนึ่ง ชูชกไปหาพราหมณ์ที่ตนฝากเงินได้ จะขอเงินกลับไป ปรากฎว่า พราหมณ์นั้นนำเงินไปใช้หมดแล้ว จะหามาใช้ให้ชูชกก็หาไม่ทัน จึงจูงเอาลูกสาวชื่อ อมิตตดา มายกให้แก่ชูชก พราหมณ์กล่าวแก่ชูชกว่า 

          "ท่านจงรับเอาอมิตตดาลูกสาวเราไปเถิด จะเอาไปเลี้ยงเป็นลูกหรือภรรยา หรือจะเอาไปเป็นทาสรับใช้ปรนนิบัติก็สุด แล้วแต่ท่านจะเมตตา"

     ชูชกเห็นนางอมิตตดาหน้าตาสะสวย งดงามก็หลงรัก จึงพานางไปบ้าน เลี้ยงดู นางในฐานะภรรยา นางอมิตตดาอายุยังน้อย หน้าตางดงาม และมีความกตัญญู ต่อพ่อแม่ นางจึงยอมเป็นภรรยาชูชกผู้แก่เฒ่า รูปร่างหน้าตาน่ารังเกียจ อมิตตดา ปรนนิบัติชูชกอย่างภรรยาที่ดีจะพึงกระทำทุกประการ นางตักน้ำ ตำข้าว หุงหาอาหาร ดูแลบ้านเรือนไม่มีขาดตกบกพร่อง ชูชกไม่เคยต้องบ่นว่าหรือตักเตือนสั่งสอนแต่ อย่างใดทั้งสิ้น ความประพฤติที่ดีเพียบพร้อมของนาง อมิตตดาทำให้เป็นที่สรรเสริญของบรรดา พราหมณ์ทั้งหลายในหมู่บ้านนั้น ในไม่ช้า บรรดาพราหมณ์เหล่านั้นก็พากันตำหนิติเตียนภรรยาของตนที่มิได้ประพฤติตนเป็น แม่บ้านแม่เรือนอย่างอมิตตดา บางบ้านก็ถึงกับทุบตีภรรยาเพื่อให้รู้จักเอาอย่างนาง เหล่านางพราหมณีทั้งหลายได้รับความเดือดร้อน ก็พากันโกรธแค้นนางอมิตตดา ว่าเป็นต้นเหตุ
   วันหนึ่งขณะที่นางไปตักน้ำในหมู่บ้าน บรรดานางพราหมณีก็รุมกันเย้ยหยันที่นางมีสามีแก่ หน้าตาน่าเกลียดอย่างชูชก นางพราหมณีพากันกล่าวว่า 

     "นางก็อายุน้อย หน้าตางดงาม ทำไมมายอมอยู่กับเฒ่าชรา น่ารังเกียจอย่างชูชก หรือว่ากลังจะหาสามีไม่ได้ มิหนำซ้ำยังทำ ตนเป็นกาลกิณี พอเข้ามาในหมู่บ้านก็ทำให้ ชาวบ้านสิ้นความสงบสุข เขาเคยอยู่กันมาดีๆ พอนางเข้ามาก็เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า หาความสงบ ไม่ได้ นางอย่าอยู่ในหมู่บ้านนี้เลย จะไปไหนก็ไปเสียเถิด"
     ไม่เพียงกล่าววาจาด่าทอ ยังพากันหยิกทึ้ึ้ง ทำร้ายนางอมิตตดา จนนางทนไม่ได้ ต้องหนีกลับบ้านร้องไห้ มาเล่าให้ชูชกฟัง ชูชกจึงบอกว่าต่อไปนี้นางไม่ต้องทำการ งานสิ่งใด ชูชกจะเป็นฝ่ายทำให้ทุกอย่าง นางอมิตตดาจึงว่า

     "ภรรยาที่ดีจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร จะปล่อยให้สามีมาปรนนิบัติรับใช้ เราทำไม่ได้หรอก ลูกหญิงที่พ่อแม่อบรมสั่งสอนมาดี ย่อมจะไม่นั่งนอนอยู่เฉยๆ ดีแต่ชี้นิ้วให้ผู้อื่นปรนนิบัติตน นี่แน่ะ ชูชก ถ้าท่านรักเราจริง ท่านจงไปหาบริวารมาปรนนิบัติรับใช้เราดีกว่า"
     ชูชกได้ฟังดังนั้นก็อัดอั้นตันใจ ไม่รู้จะไปหาข้าทาสหญิงชายมาจากไหน นางอมิตตดา จึงแนะว่า
     "ขณะนี้ พระเวสสันดรเสด็จออกมาจากเมืองสีพี มาทรงบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า เขาวงกต พระองค์เป็นผู้ใฝ่ในการบริจาคทาน ท่านจงเดินทางไปขอบริจาคพระชาลีกัณหา โอรสธิดาของพระเวสสันดรมาเป็นข้าทาสของเราเถิด"

     ชูชกไม่อยากเดินทางไปเลยเพราะกลัวอันตรายในป่า แต่ครั้นจะไม่ไปก็กลัวนางอมิตตดาจะทอดทิ้งไม่ยอมอยู่กับตน
   ในที่สุดชูชกจึงตัดสินใจเดินทางไปเขาวงกตเพื่อทูลขอพระชาลีกัณหา เมื่อไปถึงบริเวณปากทางเข้าสู่เขาวงกต ชูชกก็ได้พบพรานเจตบุตรผู้รักษาปากทาง หมาไล่เนื้อที่พรานเลี้ยงไว้พากันรุมไล่ต้อนชูชกขึ้นไปจนมุมอยู่บนต้นไม้ เจตบุตรก็เข้า ไปตะคอกขู่ 
     ชูชกนั้นเป็นคนมีไหวพริบ สังเกตดูเจตบุตรก็รู้ว่าเป็นคนซื่อสัตย์ มีฝีมือเข้มแข็ง แต่ขาดไหวพริบ จึงคิดจะใช้วาาจาลวง เจตบุตรให้หลงเชื่อ พาตนเข้าไปพบพระเวสสันดรให้ได้ ชูชกจึงกล่าวแก่เจตบุตรว่า
     "นี่แนะ เจ้าพรานป่าหน้าโง่ เจ้าหารู้ไม่ว่าเราเป็นใคร ผู้อื่นเขา จะเดินทางมาให้ยากลำบากทำไมจนถึงนี่ เรามาในฐานะทูต ของพระเจ้าสัญชัย เจ้าเมืองสีวีพ จะมาทูลพระเวสสันดรว่า บัดนี้ชาวเมืองสีพีได้คิดแล้ว จะมาทูล เชิญเสด็จกลับพระนคร เราเป็นผู้มาทูลพระองค์ไว้ก่อน เจ้ามัวมาขัดขวางเราอยู่อย่างนี้ เมื่อไรพระเวสสันดรจะได้ เสด็จคืนเมือง"
     เจตบุตรได้ยินก็หลงเชื่อ เพราะมีความจงรักภักดี อยากให้พระเวสสันดรเสด็จกลับ เมืองอยู่แล้ว จึงขอโทษชูชก จัดการหาอาหารมาเลี้ยงดู แล้วชี้ทางให้เข้าไปสู่อาศรม ที่พระเวสสันดรบำเพ็ญพรตภาวนาอยู่ 


     เมื่อชูชกมาถึงอาศรมก็คิดได้ว่า หากเข้าไปทูลขอ พระโอรสธิดาในขณะพระนางมัทรีอยู่ด้วย พระนางคงจะไม่ยินยอมยกให้เพราะความรัก อาลัยพระโอรสธิดา จึงควรจะรอจนพระนางเสด็จไปหาผลไม้ในป่าเสียก่อน จึงค่อยเข้า ไปทูลขอต่อพระเวสสันดรเพียงลำพัง
     ในวันนั้น พระนางมัทรีทรงรู้สึกไม่สบายพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะในตอนกลางคืน พระนางทรงฝันร้ายว่า มีบุรุษร่างกายกำยำ ถือดาบ มาตัดแขนซ้ายขวาของพระนางขาด ออกจากกาย บุรุษนั้นควักดวงเนตร ซ้ายขวา แล้วยังผ่าเอาดวงพระทัยพระนางไปด้วย พระนางมัทรีทรงสังหรณ์ว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น จึงทรงละล้าละลังไม่อยากไปไกลจาก อาศรม แต่ครั้นจะไม่เสด็จไปก็จะไม่มีผลไม้มาให้พระเวสสันดรและโอรสธิดาเสวย พระนางจึงจูงโอรสธิดาไปทรงฝากฝังกับ พระเวสสันดรขอให้ทรงดูแล ตรัสเรียกหา ให้เล่นอยู่ใกล้ๆ บรรณศาลา พร้อมกับเล่าความฝันให้พระเวสสันดรทรงทราบ
     พระเวสสันดรทรงหยั่งรู้ว่าจะมีผู้มาทูลขอพระโอรสธิดา แต่ครั้นจะบอกความตามตรง พระนางมัทรีก็คงจะทนไม่ได้ พระองค์เองนั้น ตั้งพระทัยมั่นว่าจะบริจาคทรัพย์สมบัติทุกสิ่งทุกประการในกายนอกกาย แม้แต่ชีวิตและ เลือดเนื้อของพระองค์ หากมีผู้มาทูลขอก็จะ ทรงบริจาคให้โดยมิได้ทรงเสียดายหรือหวาดหวั่น
   พระเวสสันดรจึงตรัสกับพระนางมัทรีว่าจะดูแลพระโอรสธิดาให้ พระนางมัทรีจึงเสด็จไปหาผลไม้ในป่าแต่ลำพัง      ครั้นชูชกเห็นได้เวลาแล้ว จึงมุ่งมาที่อาศรม ได้พบพระชาลีพระกัณหาทรงเล่นอยู่หน้าอาศรม ก็แกล้งขู่ ให้สองพระองค์ตกพระทัยเพื่อข่มขวัญไว้ก่อน แล้วชูชกพราหมณ์เฒ่าก็เข้าไปเฝ้า พระเวสสันดรกล่าววาจากราบทูลด้วยโวหาร อ้อมค้อมลดเลี้ยว ชักแม่น้ำทั้งห้า เพื่อทูลขอ พระโอรสธิดาไปเป็นข้าช่วงใช้ของตน
     พระเวสสันดรทรงมีพระทัยยินดีที่จะทรงกระทำบุตรทาน คือ การบริจาคบุตรเป็นทาน อันหมายถึงว่า พระองค์เป็นผู้สละกิเลส ความหวงแหนในทรัพย์สมบัติทั้งปวง แม้กระทั่งบุคคลอันเป็นที่รัก ก็สามารถสละ เป็นทานเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ แต่พระองค์ทรงผัดผ่อนต่อชูชกว่า ขอให้ พระนางมัทรีกลับมาจากป่าได้ร่ำลาโอรสธิดา เสียก่อนชูชกก็ไม่ยินยอม กลับทูลว่า
     "หากพระนางกลับมา สัญชาตญาณแห่งมารดา ย่อมจะทำให้พระนางหวงแหนห่วงใย พระโอรสธิดา ย่อมจะไม่ทรงให้พระโอรส ธิดาพรากจากไปได้ หากพระองค์ทรง ปรารถนาจะบำเพ็ญทานจริง ก็โปรดยกให้หม่อมฉันเสียแต่บัดนี้เถิด" 


     พระเวสสันดรจนพระทัยจึงตรัสเรียกหาพระโอรสธิดา แต่พระชาลีกัณหาซึ่งแอบฟัง ความอยู่ใกล้ๆ ได้ ทราบว่า พระบิดาจะยกตน ให้แก่ชูชก ก็ทรงหวาดกลัว จึงพากันไปหลบซ่อน โดยเดินถอยหลังลงสู่สระบัว เอาใบบัว บังเศียรไว้ ชูชกเห็นสองกุมารหายไป จึงทูลประชดประชันพระเวสสันดรว่าไม่เต็มพระทัย บริจาคจริง ทรงให้สัญญาณสองกุมารหนีไปซ่อนตัวเสียที่อื่น พระเวสสันดร จึงทรงต้องออกมาตามหาพระชาลีกัณหา

     ครั้นทอดพระเนตรเห็นรอยเท้าเดินขึ้นมาจากสระ จึงตรัสเรียกพระโอรสธิดาว่า
     "ชาลีกัณหา เจ้าจงขึ้นมาหาพ่อเถิด หากเจ้านิ่งเฉยอยู่ พราหมณ์เฒ่าก็จะเยาะเย้ยว่าพ่อนี้ ไร้วาจาสัตย์ พ่อตั้งใจจะบำเพ็ญทานบารมี เพื่อสละละกิเลสให้บรรลุพระโพธิญาณ จะได้เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย ในภายภาคหน้า ให้พ้นจากทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด เจ้าจงมาช่วยพ่อประกอบการบุญเพื่อบรรลุผล คือ พระโพธิญาณนั้นเถิด" 

     ทั้งสองกุมารทรงได้ยินพระบิดาตรัสเรียก ก็ทรงรำลึกได้ถึงหน้าที่ของบุตรที่ดี ที่ต้องเชื่อฟังบิดามารดา รำลึกได้ถึงความพากเพียรของพระบิดาที่จะประกอบ บารมีเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส ทั้งยังรำลึกถึงขัตติยมานะว่าทรงเป็น โอรสธิดากษัตริย์ไม่สมควรจะหวาดกลัวต่อสิ่งใด จึงเสด็จขึ้นมาจากสระบัว พระบิดาก็จูงทั้งสองพระองค์มาทรงบริจาคเป็นทานแก่ชูชก
     ชูชกครั้นได้ตัวพระชาลีกัณหาเป็นสิทธิขาดแล้ว ก็แสดงอำนาจฉุดลากเอาสอง กุมารเข้าป่าไป เพื่อจะให้เกิดความยำเกรงตน พระเวสสันดรทรงสงสารพระโอรสธิดา แต่ก็ไม่อาจทำประการใดได้เพราะทรงถือว่า ได้บริจาคเป็นสิทธิแก่ชูชกไปแล้ว

     ครั้นพระนางมัทรีทรงกลับมาจากป่าในเวลาพลบค่ำ เที่ยวตามหาโอรสธิดาไม่พบ ก็มาเฝ้าทูลถามจากพระเวสสันดร พระเวสสันดรจะทรงตอบความจริงก็เกรงว่า นางจะทนความเศร้าโศกมิได้ จึงทรงแกล้งตำหนิว่านางไปป่าหาผลไม้กลับมาจนเย็นค่ำ คงจะรื่นรมย์มากจนลืมนึกถึงโอรสธิดาและสวามีที่คอยอยู่ 

     พระนางมัทรี ได้ทรงฟัง ก็เสียพระทัย ทูลตอบว่า
     "เมื่อหม่อมฉันจะกลับอาศรม มีสัตว์ร้ายวนเวียนดักทางอยู่ หม่อมฉันจะมา ก็มามิได้จนเย็นค่ำ สัตว์ร้ายเหล่านั้นจึงจากไป หม่อมฉันมีแต่ความสัตย์ซื่อ มิได้เคยนึกถึงความสุขสบายส่วนตัวเลยแม้แต่น้อยนิด บัดนี้ลูกของหม่อมฉันหายไป จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็มิทราบ หม่อมฉันจะเที่ยวติดตามหาจนกว่าจะพบลูก"

     พระนางมัทรีทรงออกเที่ยวตามหาพระชาลีกัณหาตามรอบบริเวณศาลา เท่าไรๆ ก็มิได้ พบจนในที่สุด พระนางก็สิ้นแรงถึงกับสลบไป พระเวสสันดรทรงเวทนา จึงทรงนำน้ำเย็นมาประพรมจนนางฟื้นขึ้น ก็ตรัสเล่าว่าได้บริจาค โอรสธิดาแก่พราหมณ์เฒ่าไปแล้ว ขอให้พระนางอนุโมทนาในทานบารมีที่ทรงกระทำ ไปนั้นด้วยบุตรทานที่พระราชสวามีทรงบำเพ็ญ และมีพระทัยค่อยบรรเทาจากความโศกเศร้า
     ฝ่ายท้าวสักกะเทวราชทรงเล็งเห็นว่า หากมีผู้มาทูลขอพระนางมัทรีไป พระเวสสันดร ก็จะทรงลำบาก ไม่อาจบำเพ็ญเพียรได้เต็มความปรารถนา เพราะต้องทรงแสวงหาอาหารประทังชีวิต ท้าวสักกะจึงแปลงองค์เป็นพราหมณ์ มาขอรับบริจาคพระนางมัทรี
     พระเวสสันดร ก็ทรงปิติยินดีที่จะได้ประกอบทารทาน คือ การบริจาคภรรยาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น พระนางมัทรีก็ทรงเต็มพระทัยที่จะได้ทรงมีส่วนในการ บำเพ็ญทานบารมีตามที่พระเวสสันดรทรงตั้งพระทัยไว้


     เมื่อได้รับบริจาคแล้ว ท้าวสักกะก็ทรงกลับคืนร่างดังเดิม และตรัสสรรเสริญอนุโมทนาในกุศลแห่งทานบารมีของพระเวสสันดร แล้วถวายพระนางมัทรีกลับคืนแด่พระเวสสันดร พระเวสสันดรจึงได้ทรงประกอบบุตรทารทาน อันยากที่ผู้ใดจะกระทำได้ สมดังที่ได้ตั้งพระทัย ว่าจะบริจาคทรัพย์ของพระองค์เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยปราศจากความหวงแหนเสียดาย
     ฝ่ายชูชกพาสองกุมารเดินทางมาในป่า ระหกระเหินได้รับความลำบากเป็นอันมาก และหลงทางไปจนถึงเมืองสีพี บังเอิญผ่านไปหน้าที่ประทับพระเจ้าสญชัยทรงทอด พระเนตรเห็นพระนัดดาทั้งสองก็ทรงจำได้ จึงให้เสนาไปพาเข้ามาเฝ้า ชูชกทูลว่า พระเวสสันดรทรงบริจาคพระชาลีกัณหาให้เป็นข้าทาสของตนแล้ว บรรดาเสนาอำมาตย์และประชาชนทั้งหลาย ต่างก็พากันสงสารพระกุมารทั้งสอง และ ตำหนิพระเวสสันดรที่มิได้ทรงห่วงใยพระโอรสธิดา

     พระชาลีเห็นผู้อื่นพากันตำหนิติเตียนพระบิดาจึงทรงกล่าวว่า
     "เมื่อพระบิดาเสด็จไปผนวชอยู่ในป่า มิได้ทรงมีสมบัติใดติดพระองค์ไป แต่ทรงมีพระทัยแน่วแน่ที่จะสละกิเลส ไม่หลงใหลหวงแหนในสมบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้บุคคลอันเป็นที่รักก็ย่อมสละได้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เพราะทรงมีพระทัยมั่นในพระโพธิญาณในภายหน้า ความรัก ความหลง ความโลภ ความโกรธ เป็นกิเลสที่ขวางกั้นหนทางไปสู่พระโพธิญาณ พระบิดาของหม่อมฉันสละกิเลสได้ดังนี้ จะมาตำหนิติเตียนพระองค์หาควรไม่"


     พระเจ้าสญชัยได้ทรงฟังดังนั้นก็ยินดี จึงตรัสเรียกพระชาลีให้เข้าไปหา แต่พระชาลี ยังคงประทับอยู่กับชูชก และทูลว่า พระองค์ยังเป็นทาสของชูชกอยู่ พระเจ้าสญชัยจึงขอไถ่สองกุมารจากชูชก
     พระชาลีตรัสว่า พระบิดาตีค่าพระองค์ไว้พันตำลึงทอง แต่พระกัณหานั้นเป็นหญิง พระบิดาจึงตีค่าตัวไว้สูง เพื่อมิให้ผู้ใดมาไถ่ตัวหรือซื้อขายไปได้ง่ายๆ พระกัณหา นั้นมีค่าตัวเท่ากับทรัพย์เจ็ดชีวิต เจ็ดสิ่ง เช่น ข้าทาส หญิงชาย เป็นต้น สิ่งละเจ็ดร้อย กับทองคำอีกร้อยตำลึง
     พระเจ้าสญชัยก็โปรดให้เบิกสมบัติท้องพระคลังมาไถ่ตัวพระนัดดาจากชูชก และโปรดให้จัดข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงดูชูชก เพื่อตอบแทนที่พาพระนัดดากลับมาถึงเมือง

     ชูชกพราหมณ์เฒ่าขอทาน ไม่เคยได้บริโภคอาหารดีๆ ก็ไม่รู้จักยับยั้ง บริโภคมาจนทนไม่ไหว ถึงแก่ความตายในที่สุด พระเจ้าสญชัยโปรด ให้จัดการศพแล้วประกาศหาผู้รับมรดก ก็หามีผู้ใดมาขอรับไม่ หลังจากนั้นพระเจ้าสญชัย จึงตรัสสั่งให้จัดกระบวนเสด็จเพื่อไปรับ พระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับคืนสู่เมืองสีพี เพราะบรรดาประชาชนก็พากันได้คิดว่า พระเวสสันดรได้ทรงประกอบทานบารมี อันยิ่งใหญ่กว่าทั้งหลายทั้งปวง ก็เพื่อประโยชน์แห่งผู้คนทั้งหลาย หาใช่เพื่อพระองค์เองไม่ เมื่อกระบวนไปถึงอาศรมริมสระโบกขรณี กษัตริย์ทั้งหกก็ทรงได้พบกันด้วยความโสมนัสยินดี
     พระเจ้าสญชัยจึงตรัสบอกพระเวสสันดรว่า ประชาชนชาวสีพีีได้เห็นสิ่งที่ถูกที่ควรแล้ว และพากันร่ำร้อง ได้ทูลเชิญเสด็จกลับเมืองสีพี พระเวสสันดร พระนางมัทรี และพระชาลีกัณหา จึงได้เสด็จกลับเมือง พระเจ้าสญชัยทรงอภิเษกพระเวสสันดรขึ้นครองเมืองสืบต่อไป

     ครั้นได้เป็นพระราชาแห่งสีพี พระเวสสันดรก็ทรงยึดมั่นในการประกอบทานบารมี ทรงตั้งโรงทานบริจาคเป็นประจำทุกวัน ชาวเมืองสีพีตลอดจนบ้านเมืองใกล้เคียง ก็ได้รับพระเมตตากรุณา มีความร่มเย็นเป็นสุข ชาวเมืองต่างก็เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน มิได้โลภ กระหายในทรัพย์สมบัติ ต่างก็มีจิตใจผ่องใสเป็นสุข เหมือนดังที่พระเวสสันดรทรงตั้งพระปณิธานว่า พระองค์จะทรงบริจาคทรัพย์สมบัติทั้งปวง เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ด้วยทรัพย์ทั้งหลาย ทำให้เกิดกิเลส คือ ความโลภ ความหลงหวงแหน เมื่อบริจาคทรัพย์แล้ว ผู้รับก็จะได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น และมีความชื่นชม ยินดี ผู้ให้ก็จะ อิ่มเอมใจว่าได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เกิดความปิติยินดีเช่นกัน ทั้งผู้ให้และผู้รับย่อมได้รับ ความสุขความพึงพอใจดังนี้

สั่งสอนให้คนเราเพียรประกอบคุณความดีโดยมิท้อถอย หากรู้จักสละทรัพย์บริจาคทานเนื่องนิจก็จะเป็นที่สรรเสริญทั่วไป คนโลภคนจิต"

http://www.dhammathai.org/chadok/legend10.php
 

๙. วิ ฑู ร ช า ด ก

นเมืองอินทปัตต์ แคว้นกุรุ พระราชาทรง พระนามว่า ธนัญชัย ทรงมีนักปราชญ์ประจำ ราชสำนักชื่อว่า วิธุร วิธุรเป็นผู้มีวาจาฉลาด หลักแหลม เมื่อจะกล่าวถ้อยคำสิ่งใด ก็สามารถ ทำให้ผู้ฟังเกิดความเลื่อมใสครัทธราและ ชื่นชมยินดีในถ้อยคำนั้น ในครั้งนั้น มีพราหมณ์อยู่ 4 คน เคยเป็นเพื่อน สนิทกันมาแต่เก่าก่อน ต่อมาพราหมณ์ทั้งสี่ ได้ออกบวช เป็นฤษีบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า หิมพานต์ และบางครั้งก็เข้ามาสั่งสอนธรรม แก่ผู้คนในเมืองบ้าง ครั้งหนึ่งมี เศรษฐี 4 คน ได้อัญเชิญฤาษีทั้งสี่ ไปที่บ้านของตน เมื่อ ฤาษีบริโภคอาหารแล้ว ได้เล่าให้เศรษฐีฟังถึง สมบัติในเมืองต่างๆทีตนได้เคยไปเยือนมา ฤาษีองค์หนึ่งเล่าถึงสมบัติของพระอินทร์ องค์ที่สองเล่าถึง สมบัติของพญานาค องค์ที่สาม เล่าถึงสมบัติพญาครุฑ และองค์สุดท้ายเล่าถึง สมบัติของพระราชาธนัญชัย แห่งเมืองอินทปัตต์ เศรษฐีทั้งสี่ได้ฟังคำพรรณนา ก็เกิดความ เลื่อมใสอยากจะได้สมบัติเช่นนั้นบ้าง ต่างก็ พยายามบำเพ็ญบุญ ให้ทาน รักษาศีลและอธิษฐาน ขอให้ได้ไปเกิดเป็นเจ้าขอสมบัติดังที่ต้องการ ด้วยอำนาจแห่งบุญ ทาน และศีล เมื่อสิ้น อายุแล้ว เศรษฐีทั้งสี่ก็ได้ไปเกิดในที่ที่ตั้ง ความปรารถนาไว้ คือ คนหนึ่งไปเกิดเป็น ท้าวสักกะเทวราช คนที่สองไปเกิดเป็น พญานาคชื่อว่า ท้าววรุณ คนที่สามไปเกิดเป็น พญาครุฑ และคนที่สี่ไปเกิดเป็นโอรสพระเจ้าธนัญชัย ครั้นเมื่อพระราชาธนัญชัยสวรรคตแล้ว ก็ได้ครอง ราชสมบัติในเมืองอินทปัตต์ต่อมา ทั้งท้าวสักกะ พญานาควรุณ พญาครุฑ และ พระราชา ล้วนมีจิตใจ ปรารถนาจะรักษาศีล บำเพ็ญธรรม ต่างก็ได้แสวงหาโอกาสที่จะรักษา ศีลอุโบสถและบำเพ็ญบุญ ให้ทาน อยู่เป็นนิตย์ วันหนึ่งบุคคลทั้งสี่เผอิญได้มาพบกันที่สระ โบกขรณี ด้วยอำนาจแห่งความผูกพันที่มี มาตั้งแต่ครั้งยังเกิด เป็นเศรษฐีสี่สหาย ทั้งสี่ คนจึงได้ทักทายปราศรัยกันด้วยไมตรี ขณะกำลังสนทนาก็ได้เกิดถกเถียงกันขึ้นว่า ศีลของใครประเสริฐที่สุด ท้าวสักกะกล่าวว่า พระองค์ทรงละทิ้งสมบัติทิพย์ในดาวดึงส์ มา บำเพ็ญ พรตอยู่ในมนุษย์โลก ศีลของพระองค์ จึงบริสุทธิกว่าผู้อื่น ฝ่ายพญานาควรุณกล่าวว่า ธรรมดาครุฑนั้น เป็นศัตรูตัวร้ายของนาค เมื่อตนได้พบกับพญาครุฑ กลับสามารถ อดกลั้นความโกรธเคืองได้ จึงนับว่า ศีลของ ตนบริสุทธิ์กว่าผู้อื่น พญาครุฑกล่าวแย้งว่า ธรรมดานาคเป็นอาหารของครุฑ ตนได้พบ นาคแต่ สามารถอดกลั้นความอยากใน อาหารได้ นับว่าศีลของตนประเสริฐที่สุด ส่วนพระราชาทรงกล่าวว่า พระองค์ได้ทรงละ พระราชวังอันเป็นสถานที่สำราญ พรั่งพร้อม ด้วยเหล่านารีที่เฝ้าปรนนิบัติ มาบำเพ็ญธรรม แต่ลำพังเพื่อประสงค์ความสงบ ดังนั้นจึงควร นับว่า ศีลของพระองค์ บริสุทธิ์ที่สุด ทั้งสี่ถกเถียงกันเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่สามารถ ตกลงกันได้ จึงชวนกันไปหาวิธุรบัณฑิต เพื่อให้ ช่วยตัดสิน วิธุรบัณฑิตจึงถามว่า
"เรื่องราวเป็น มาอย่างไรกัน ข้าพเจ้าไม่อาจตัดสินได้หากไม่ ทราบเหตุอันเป็นต้น เรื่องของปัญหาอย่างละเอียด ชัดเจนเสียก่อน" แล้วทั้งสี่ก็เล่าถึงเรื่องราวทั้งหมด วิธุรบัณฑิตฟังแล้วก็ตัดสินว่า

"คุณธรรมทั้งสี่ ประการนั้น ล้วนเป็นคุณธรรมอันเลิศทั้งสิ้น ต่างอุดหนุน เชิดชูซึ่งกันและกัน ไม่มีธรรมข้อไหน ต่ำต้อยกว่ากันหรือเลิศกว่ากัน บุคคลใดตั้งมั่น อยู่ในคุณธรรมทั้งสี่นี้ ถือได้ว่าเป็นสันติชนในโลก"

ทั้งสี่เมื่อได้สดับคำตัดสินนั้น ก็มีความชื่นชม ยินดีในปัญญาของวิธุรบัณฑิต ที่สามารถแก้ ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีเหตุมีผล ต่างคน ต่างก็ได้บูชาความสามารถของวิธุรบัณฑิต ด้วยของมีค่าที่เป็นสมบัติของตน เมื่อพญานาควรุณกลับมาถึงเมืองนาคพิภพ พระนางวิมลา มเหสีได้ทูลถามขึ้นว่า "แก้ว มณีที่พระศอของ พระองค์หายไปไหนเพคะ"
พญานาควรุณตอบว่า "เราได้ถอดแก้วมณี ออกให้กับวิธุรบัณฑิต ผู้มีสติ ปัญญาเฉียบ แหลมมีวาจาอันประกอบด้วยธรรมไพเราะ จับใจเราเป็นอย่างยิ่ง และไม่ใช่แต่เราเท่านั้น ที่ได้ให้ของอันมีค่ายิ่งแก่วิธุรบัณฑิต ทั้งท้าว สักกะเทวราช พญาครุฑ และพระราชา ต่างก็ ได้มอบของมีค่าสูง เพื่อบูชาธรรมที่วิธุรบัณฑิต แสดงแก่เราทั้งหลาย"
พระนางวิมลาทูลถามว่า "ธรรมของวิธุร บัณฑิตนั้นไพเราะจับใจอย่างไร"
พญานาค ทรงตอบว่า "วิธุรบัณฑิตเป็นผู้มีปัญญา เฉียบแหลม รู้หลักคุณธรรมอันลึกซึ้ง และสามารถแสดงธรรมเหล่านั้น ได้อย่าง ไพเราะจับใจ ทำให้ผู้ฟังเกิดความชื่นชม ยินดีในสัจจะแห่งธรรมนั้น"
พระนางวิมลาได้ฟังดังนั้นก็เกิดความปราถนา จะได้ฟังวิธุรบัณฑิตแสดงธรรมบ้าง จึงทรงทำ อุบายว่าเป็นไข้ เมื่อพญานาควรุณทรงทราบก็ เสด็จไปเยี่ยมตรัสถามว่า พระนางป่วยเป็นโรค ใดทำอย่างไรจึงจะหาย จากโรคได้
พระนางวิมลา ทูลตอบว่า "หม่อมฉันไม่สบายอย่างยิ่ง ถ้าจะให้ หายจากอาการ ก็ขอได้โปรดประทานหัวใจ วิธุรบัณฑิตให้หม่อมฉันด้วยเถิด" พญานาคได้ฟังก็ตกพระทัย ตรัสว่า วิธุรบัณฑิต เป็นที่รักใคร่ของผู้คนทั้งหลายยิ่งนัก คงจะไม่มี ผู้ใด สามารถล่วงล้ำเข้าไปเอาหัวใจวิธุรบัณฑิต มาได้ พระนางวิมลาก็แสร้งทำเป็นอาการป่วย กำเริบหนักขึ้นอีก พญานาควรุณก็ทรง กลัดกลุ้มพระทัยอย่างยิ่ง ฝ่ายนางอริทันตี ธิดาพญานาคเห็นพระบิดา วิตกกังวลจึงถามถึงเหตุที่เกิดขึ้น พญานาควรุณ ก็เล่าให้นาง ฟัง นางอริทันตีจึงทูลว่า นางประสงค์ จะช่วยให้พระมารดาได้สิ่งที่ต้องการให้จงได้ นางอริทันตีจึงป่าวประกาศให้บรรดาคนธรรพ์ นาค ครุฑ มนุษย์ กินนร ทั้งปวงได้ทราบว่า หากผู้ใด สามารถนำหัวใจวิธุรบัณฑิตมาให้ นางได้ นางจะยอมแต่งงานด้วย ขณะนั้น ปุณณกยักษ์ผู้เป็นหลานของ ท้าวเวสุวัณมหาราชผ่านมา ได้เห็นนางก็นึก รักอยากจะได้นางเป็น ชายา จึงเข้าไปหา นางและบอกกับนางว่า "เราชื่อปุณณกยักษ์ ประสงค์จะได้นางมาเป็นชายา จงบอกแก่ เราเถิดว่าวิธุรบัณฑิตเป็นใคร อยู่ที่ไหน เราจะ นำหัวใจของเขามาให้นาง"
เมื่อปุณณกยักษ์ ได้ทราบว่าวิธุรบัณฑิตเป็น มหาราชครูในราชสำนักพระเจ้าธนัญชัย
จึงดำริว่า "หากเรา ต้องการตัววิธุรบัณฑิต จะไปพามาง่ายๆ นั้น คงไม่ได้ ทางที่ดีเราจะ ต้องท้าพนันสกากับพระเจ้าธนัญชัย โดย เอาวิธุรบัณฑิตเป็นสิ่งเดิมพัน ด้วยวิธีนี้เราคง จะเอาตัววิธุรบัณฑิตมาได้"

คิดดังนั้นแล้ว ปุณณกยักษ์ก็ไปสู่ราชสำนัก ของพระราชาธนัญชัย และทูลพระราชาว่า "ข้าพระองค์มาท้า พนันสกา หากพระองค์ชนะ ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะถวายแก้วมณีวิเศษอันเป็น สมบัติสำหรับพระจักรพรรดิ กับจะถวายม้าวิเศษ คู่บุญจักรพรรดิ"
พระราชาธนัญชัยทรงปรารถนาจะได้แก้วมณี และม้าแก้วอันเป็นของคู่บุญจักรพรรดิ จึงตอบ ปุณณกยักษ์ ว่าพระองค์ยินดีจะเล่นพนันสกา ด้วยปุณณกยักษ์ก็ทูลถามว่า หากพระราชาแพ้พนัน จะให้อะไร เป็น เดิมพัน
พระราชาก็ทรงตอบว่า "ยกเว้นตัวเรา เศวตฉัตร และมเหสีแล้ว เจ้าจะเอา อะไรเป็นเดิมพันเราก็ ยินยอมทั้งสิ้น" ปุณณกยักษ์ พอใจคำตอบ จึงตกลงเริ่มทอดสกาพนัน ปรากฏว่าพระราชาทรงทอดสกาแพ้ ปุณณก ยักษ์จึงทวงทรัพย์เดิมพัน โดยทูลพระราชาว่า "ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาทรัพย์สมบัติใดๆ ทั้งสิ้น ขอแต่วิธุรบัณฑิตแต่ผู้เดียวเป็นรางวัลเดิมพันสกา"

พระราชาตกพระทัย ตรัสกับปุณณกยักษ์ว่า "อันวิธุรบัณฑิตนั้นก็เปรียบได้กับตัวเราเอง เราบอกแล้วว่า ยกเว้นตัวเรา เศวตฉัตร และ มเหสีแล้ว เจ้าจะขออะไรก็จะให้ทั้งนั้น"
ปุณณกยักษ์ทูลว่า "เราอย่ามาโต้เถียงกันเลย ขอให้วิธุรบัณฑิตเป็นผู้ตัดสินดีกว่า"
เมื่อ พระราชาให้ไปตามวิธุรบัณฑิตมา ปุณณก ยักษ์ก็ถามว่า "ท่านเป็นทาสของพระราชา หรือว่าท่านเสมอกับพระราชา หรือสูงกว่า พระราชา"
วิธุรบัณฑิตตอบว่า "ข้าพเจ้า เป็นทาสของพระราชา พระราชาตรัสสิ่งใด ข้าพเจ้าก็ จะทำตาม ถึงแม้ว่าพระองค์จะ พระราชทานข้าพเจ้าเป็นค่าพนัน ข้าพเจ้า ก็จะยินยอมโดยดี"
พระราชาได้ทรงฟังวิธุรบัณฑิตตอบดังนั้น ก็เสียพระทัยว่า วิธุรบัณฑิตไม่เห็นแก่ พระองค์กลับไปเห็นแก่ ปุณณกยักษ์ ซึ่ง ไม่เคยได้พบกันมาก่อนเลย
วิธุรบัณฑิต จึงทูลว่า "ข้าพระองค์จักพูดในสิ่งที่เป็นจริง สิ่งที่ เป็นธรรมเสมอ ข้าพระองค์ จักไม่ หลีกเลี่ยงความเป็นจริงเป็นอันขาด วาจา อันไพเราะนั้นจะมีค่าก็ต่อ เมื่อประกอบ ด้วยหลักธรรม"

พระราชาได้ฟังก็ทรงเข้าพระทัย แต่ก็มี ความโทมนัสที่จะสูญเสียวิธุรบัณฑิตไป จึงขออนุญาตปุณณกยักษ์ ให้วิธุรบัณฑิต ได้แสดงธรรมแก่พระองค์เป็นครั้งสุดท้าย ปุณณกยักษ์ก็ยินยอม วิธุรบัณฑิตจึงได้แสดง ธรรมของผู้ครองเรือนถวายแด่พระราชา ครั้นเมื่องแสดงธรรมเสร็จแล้ว ปุณณกยักษ์ก็ สั่งให้วิธุรบัณฑิตไปกับตน เพราะพระราชา ได้ยกให้เป็นสิน พนันแก่ตนแล้ว

วิธุรบัณฑิต จึงกล่าวแก่ปุณณกยักษ์ว่า "ขอให้ข้าพเจ้า มีเวลาสั่งสอนบุตรและภรรยาสักสามวันก่อน ท่านก็ได้เห็นแล้วว่าข้าพเจ้าพูดแต่ความเป็นจริง พูดโดยธรรม มิได้เห็นแก่ผู้ใดหรือสิ่งหนึ่ง สิ่งใด ยิ่งไปกว่าธรรม ท่านได้เห็นแล้วว่าข้าพเจ้า มีคุณ แก่ท่าน ในการที่ทูลความเป็นจริงแก่พระราชา ฉะนั้นขอให้ท่านยินยอมตามความประสงค์ ของข้าพเจ้าเถิด"

ปุณณกยักษ์ได้ฟังดังนั้น ก็เห็นจริงในถ้อยคำ ที่วิธุรบัณฑิตกล่าว จึงยินยอมที่จะพักอยู่เป็น เวลาสามวัน เพื่อให้วิธุรบัณฑิตมีเวลาสั่งสอน บุตรภรรยา วิธุรบัณฑิตจึงเรียกบุตรภรรยา มาเล่าให้ทราบความที่เกิดขึ้น แล้วจึงสอนบุตร ธิดาว่า "เมื่อพ่อไปจากราชสำนักพระราชา ธนัญชัยแล้ว พระองค์อาจจะทรงไต่ถามเจ้า ทั้งหลายว่า พ่อได้เคยสั่งสอนธรรมอันใดไว้บ้าง เมื่อพวกเจ้ากราบทูลพระองค์ไป หากเป็นที่พอ พระทัยก็ อาจจะตรัสอนุญาตให้เจ้า นั่งเสมอ พระราชอาสน์ เจ้าจงจดจำไว้ว่า ราชสกุลนั้น จะมีผู้ใดเสมอมิได้เป็นอันขาด จงทูลปฏิเสธ พระองค์ และนั่งอยู่ในที่อันควรแก่ฐานะของตน"
จากนั้น วิธุรบัณฑิตก็แสดงธรรมชื่อว่า ราชวสดีธรรมอันเป็นธรรมสำหรับข้าราชการ จะพึงปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ในหน้าที่การงานและเพื่อเป็นหลักสำหรับ ยึดถือในการปฏิบัติหน้าที่และการแก้ไข ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
วิธุรบัณฑิตกล่าวในที่สุด ว่า"เป็นข้าราชการต้องเป็นผู้สุขุมรอบคอบ ฉลาดในราชกิจ สามารถจัดการต่างๆ ให้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย รู้จักกาล รู้จักสมัย ว่าควรปฏิบัติอย่างไร"
เมื่อได้แสดงราชวสดีธรรมแล้ว วิธุรบัณฑิต จึงได้ออกเดินทางไปกับปุณณกยักษ์ ในระหว่าง ทางปุณณยักษ์คิดว่า เราเอาแต่หัวใจของวิธุร บัณฑิตไปคงจะสะดวกกว่าพาไปทั้งตัว คิดแล้ว ก็พยายามจะ ฆ่าวิธุรบัณฑิตด้วยวิธีต่างๆ แต่ ก็ไม่เป็นผล ในที่สุด
วิธุรบัณฑิตจึงถามว่า "ความจริงท่านเป็นใคร ท่านต้องการจะฆ่าข้าพเจ้าทำไม"
ปุณณกยักษ์จึงเล่าความเป็นมาทั้งหมด วิธุรบัณฑิตหยั่งรู้ได้ด้วยปัญญาว่า ที่แท้นั้นพระ นางวิมลา ปราถนาจะได้ฟังธรรมอันเป็นที่ เลื่องลือของตนเท่านั้น จึงคิดว่าควรจะแสดง ธรรมแก่ปุณณกยักษ์ เพื่อมิให้หลงผิด กระทำ การอันมิควรกระทำ ครั้นแล้ววิธุรบัณฑิต จึงได้แสดงธรรมชื่อว่า สาธุนรธรรม ธรรม ของคนดี แก่ปุณณกยักษ์ มีใจความว่า บุคคลที่มีอุปการคุณ ชื่อว่าเป็นเผาฝ่ามือ อันชุ่มเสีย แลัวยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้าย ต่อมิตรด้วย อนึ่ง ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจของ สตรีที่ประพฤติการอันไม่สมควร ปุณณกยักษ์ได้ฟังธรรม ก็รู้สึกในความผิดว่า วิธุรบัณฑิตมีอุปการคุณแก่ตน ไม่ควรจะกระทำร้ายหรือแม้ แต่คิดร้ายต่อวิธุรบัณฑิต ปุณณก ยักษ์จึงตัดสินใจว่าจะพาวิธุรบัณฑิตกลับ ไปยังอินทปัตต์ ตนเองจะไม่ตั้ง ความปรารถนา ในนางอริทันตีอีกต่อไปแล้ว เมื่อวิธุรบัณฑิต ทราบถึงการตัดสินใจของปุณณกยักษ์จึง กล่าวว่า "นำข้าพเจ้าไปนาคพิภพเถิด ข้าพเจ้า ไม่เกรงกลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้น ข้าพเจ้าไม่เคย ทำความชั่ว ไว้ในที่ใด จึงไม่เคยรู้สึกกลัวว่า ความตายจะมาถึงเมื่อไร"

ปุณณกยักษ์จึงนำวิธุรบัณฑิตไปเฝ้า พญานาควรุณในนาคพิภพ เมื่ออยู่ต่อหน้า พญานาควรุณ วิธุรบัณฑิต ทูลถามว่า สมบัติในนาคพิภพนี้ พญานาควรุณได้มา อย่างไร พญานาควรุณตรัสตอบว่า ได้มา ด้วยผลบุญ เมื่อครั้งที่ได้บำเพ็ญธรรม รักษาศีลและให้ทานในชาติก่อนที่เกิด เป็นเศรษฐี วิธุรบัณฑิตจึงทูลว่า ถ้าเช่นนั้น ก็แสดงว่าพญานาควรุณทรงตระหนักถึง กรรม และผลแห่งกรรมดี ขอให้ทรงประกอบ กรรมดีต่อไป แม้ว่าในเมืองนาคนี้จะไม่มีสมณ ชีพราหมณ์ที่พญานาคจะบำเพ็ญทานได้ ก็ขอให้ทรงมีเมตตาแก่บุคคล ทั้งหลายใน เมืองนาคนี้ อย่าได้ประทุษร้ายแก่ผู้ใดเลย หากกระทำได้ดังนั้นก็จะได้เสด็จไปสู่เทวโลก ที่ดียิ่งกว่านาคพิภพนี้ พญานาควรุณได้ฟังธรรมอันประกอบด้วย วาจาไพเราะของวิธุรบัณฑิตก็มีความพอ พระทัยเป็นอันมาก และตรัสให้พาพระนางวิมลา มาพบวิธุรบัณฑิต เมื่อพระนางทอดพระเนตร เห็นวิธุรบัณฑิตก็ได้ถามว่า "ท่านตกอยู่ใน อันตรายถึงเพียงนี้ เหตุใดจึงไม่มีอาการ เศร้าโศกหรือหวาดกลัวแต่อย่างใด"
วิธุรบัณฑิตทูลตอบว่า "ข้าพเจ้าไม่เคยทำความ ชั่วจึงไม่กลัวความตาย ข้าพเจ้ามีหลักธรรม และมีปัญญา เป็นเครื่องประกอบตัว จึงไม่หวั่น เกรงภัยใดๆ ทั้งสิ้น"

พญานาควรุณและพระนางวิมลาพอพระทัย ในปัญญาและความมั่นคงในธรรมของวิธุรบัณฑิต
พญานาควรุณจึงตรัสว่า "ปัญญานั้นแหละคือหัวใจ ของบัณฑิต หาใช่หัวใจที่เป็นเลือดเนื้อไม่"
จากนั้นพญานาควรุณก็ได้ยกนางอริทันตี ให้แก่ปุณณกยักษ์ ผู้ซึ่งมีดวงตาสว่างไสว ขึ้นด้วยธรรมของวิธุร บัณฑิต พ้นจากความหลง ในสตรีคือนางอริทันตี แล้วสั่งให้ปุณณกยักษ์พา วิธุรบัณฑิตไปส่งยังสำนักของ พระราชาธนัญชัย พระราชาทรงโสมนัสยินดีอย่างยิ่ง ตรัสถาม วิธุรบัณฑิตถึงความเป็นไปทั้งหลาย วิธุรบัณฑิต จึงทูลเล่า เรื่องราวทั้งสิ้น และกราบทูลในที่ สุดท้ายว่า
" ธรรมเป็นสิ่งสูงสุด บุคคลผู้มี ธรรมและปัญญาย่อมไม่หวั่นเกรงภยันตราย ย่อมสามารถเอาชนะภยันตรายทั้งปวงด้วย คุณธรรมและด้วยปัญญาของตน การแสดงธรรม แก่บุคคล ทั้งหลายนั้นคือการแสดงความจริง ให้ประจักษ์ด้วยปัญญา "
เหตุแห่งความพิบัติคือการพนัน และการมีเมตตาจิตย่อมส่งผลให้ได้รับเมตตาจิตตอบด้วยในที่สุด"
http://www.dhammathai.org/chadok/legend09.php


๘. น า ร ท ช า ด ก

ระราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า อังคติราช ครองเมืองมิถิลา เป็นผู้ที่ตั้งมั่นในทศพิธราชธรรม พระธิดาของพระเจ้าอังคติราชมีพระนามว่า รุจาราชกุมารี มีรูปโฉมงดงาม พระราชาทรง รักใคร่พระธิดา อย่างยิ่ง คืนวันหนึ่งเป็นเทศกาลมหรสพ ประชาชนพากัน ตกแต่งเคหสถานอย่างงดงาม พระเจ้าอังคติราช ประทับอยู่ท่ามกลางเหล่าอำมาตย์ในปราสาทใหญ่ ประดับประดาอย่างวิจิตรตระการ พระจันทร์กำลัง ทรงกลด เด่นอยู่กลางท้องฟ้า พระราชาทรงปรารภ กับหมู่อำมาตย์ว่า "ราตรีเช่นนี้น่ารื่นรมย์นัก เราจะทำอะไรให้ เพลิดเพลินดีหนอ" อลาตอำมาตย์ทูลว่า "ขอเดชะ ควรจะเตรียม กองทัพใหญ่ยกออกไปกวาดต้อนดินแดนน้อยใหญ่ ให้เข้า มาอยู่ในพระราชอำนาจพระเจ้าข้า" สุนามอำมาตย์ทูลว่า "ทุกประเทศใหญ่น้อยก็มา สวามิภักดิ์อยู่ในพระราชอำนาจหมดแล้ว ควรที่จะ จัดการ เลี้ยงดู ดื่มอวยชัยให้สำราญ และหาความ เพลิดเพลินจากระบำรำฟ้อนเถิดพระเจ้าข้า" วิชัยอำมาตย์ทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ เรื่องการระบำ ดนตรีฟ้อนร้องนั้น เป็นสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทอด พระเนตรอยู่แล้วเป็นนิตย์ ในราตรีอันผุดผ่องเช่นนี้ ควรไปหาสมณพราหมณ์ผู้รู้ธรรม แล้วนิมนต์ ท่านแสดง ธรรมะจะเป็นการควรกว่าพระเจ้าค่ะ" พระราชาพอพระทัยคำทูลของวิชัยอำมาตย์ จึงตรัสถามว่า "เออ แล้วเราจะไปหาใครเล่าที่เป็น ผู้รู้ธรรม" อลาตอำมาตย์แนะขึ้นว่า "มีชีเปลือย รูปหนึ่ง อยู่ในมิคทายวัน เป็นพหูสูตร พูดจาน่าฟัง ท่านคงจะช่วยขจัดข้อสงสัยของเราทั้งหลายได้ ท่านมีชื่อว่า คุณาชีวก" พระเจ้าอังคติราชได้ทรงฟังก็ยินดี สั่งให้เตรียม กระบวน เสด็จไปหาชีเปลือยชื่อคุณาชีวกนั้น

   เมื่อไปถึงที่ ก็ทรงเข้าไปหาคุณาชีวก ตรัสถาม ปัญหาธรรมที่พระองค์สงสัยอยู่ว่า บุคคลพึง ประพฤติธรรมกับบิดา มารดา อาจารย์ บุตร ภรรยา อย่างไร เหตุใดชนบางพวกจึงไม่ตั้งอยู่ ในธรรม ฯลฯ คำถามเหล่านี้ เป็น ปัญหาธรรม ขั้นสูงอันยากจะตอบได้ ยิ่งคุณาชีวกเป็นมิจฉา ทิฏฐิผู้โง่เขลาเบาปัญญาด้วยแล้ว ไม่มีทางจะ เข้าใจได้ คุณาชีวกจึงแกล้งทูลไปเสียทางอื่นว่า "พระองค์จะสนพระทัยเรื่องเหล่านี้ไปทำไม ไม่มี ประโยชน์อันใดเลยพระเจ้าข้า โปรดฟังข้าพเจ้าเถิด ในโลกนี้ บุญไม่มี บาปไม่มี ปรโลกไม่มี ไม่มีบิดา มารดาปู่ย่า ตายาย สัตว์ทั้งหลายเกิดมาเสมอกัน หมด จะได้ดีได้ชั่วก็ได้เอง ทานไม่มี ผลแห่งทาน ก็ไม่มี ร่างกายที่ประกอบกันขึ้นมานี้ เมื่อตายไป แล้วก็สูญสลายแยกออกจากกันไป สุขทุกข์ก็สิ้นไป ใครจะฆ่า จะทำร้าย ทำอันตราย ก็ไม่เป็นบาป เพราะบาปไม่มี สัตว์ทุกจำพวก เมื่อเกิดมาครบ 84 กัปป์ก็จะบริสุทธิ์พ้นทุกข์ ไปเอง ถ้ายังไม่ครบ ถึงจะทำบุญทำกุศลเท่าไร ก็ไม่อาจบริสุทธิ์ไปได้ แต่ถ้าถึงกำหนด 84 กัปป์ แม้จะทำบาปมากมาย ก็จะบริสุทธิ์ไปเอง" พระราชาได้ฟังดังนั้นจึงตรัสว่า "ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้านี้โง่เขลาจริงๆ ข้าพเจ้ามัวหลงเชื่อว่า ทำความดี แล้วจะไปสู่สุคติ อุตส่าห์พากเพียร บำเพ็ญกุศลกรรม บัดนี้ข้าพเจ้าทราบแล้วว่า บุญไม่มี บาปไม่มี ผลกรรมใดๆ ไม่มีทั้งสิ้น บุคคลจะบริสุทธิ์เองเมื่อถึงกำหนดเวลา แม้แต่ การฟังธรรมจากท่านอาจารย์ก็ หามีประโยชน์ อันใดไม่ ข้าพเจ้าขอลาไปก่อนละ"

   เมื่อเสด็จกลับมาถึงพระราชวัง พระเจ้า อังคติราชก็มีพระราชโองการว่า ต่อไปนี้พระองค์ จะไม่ปฏิบัติราชกิจใดๆทั้งสิ้น เพราะการทั้งปวง ไม่มีประโยชน์ ไม่มีผลอันใด พระองค์จะแสวงหา ความเพลิดเพลินใน ชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ อาทรร้อนใจกับผลบุญผลกรรมใดๆทั้งสิ้น จากนั้นก็เกิดเสียงเล่าลือไปทั้งพระนครว่า พระราชากลายเป็นมิจฉาทิฐิ คือ หลงผิด เชื่อคำ ของชีเปลือยคุณาชีวก บ้านเมืองย่อมจะถึง ความเสื่อม หากพระราชาทรงมีพระดำริดังนั้น ความนี้ทราบไปถึงเจ้าหญิง รุจาราชกุมารี ทรงร้อนพระทัยเมื่อทราบว่า พระบิดาให้รื้อโรงทาน ทั้งสี่มุมเมือง จะไม่บริจาคทานอีกต่อ ไป ทั้งยังได้ กระทำการข่มเหงน้ำใจชาวเมืองมากมายหลาย ประการ ด้วยความที่ทรงเชื่อว่า บุญไม่มี บาปไม่มี บุคคลไปสู่สุคติเองเมื่อถึงเวลา เจ้าหญิงรุจาราชกุมารีจึงเข้าเฝ้าพระบิดา ทูลขอ พระราชทานทรัพย์หนึ่งพัน เพื่อจะเอาไปทรงทำทาน พระบิดาเตือนว่า "ลูกรัก ทานไม่มีประโยชน์ดอก ปรโลกไม่มี เจ้าจะไม่ได้ผลอะไรตอบแทน หากเจ้า ยังถือศีลอดอาหารวันอุโบสถอยู่ ก็จงเลิกเสียเถิด ไม่มีผลดอกลูกรัก" รุจาราชกุมารีพยายามกราบทูลเตือนสติพระบิดา ว่า"ข้าแต่พระชนก บุคคลกระทำบาปสั่งสมไว้ ถึงวัน หนึ่งเมื่อผลบาปเพียบเข้า บุคคลนั้นก็จะต้องรับผล แห่งบาปที่ก่อ เหมือนเรือที่บรรทุกแม้ทีละน้อย เมื่อเต็มเพียบเข้า ก็จะจมในที่สุดเหมือนกัน ธรรมดาใบไม้ นั้นหากเอาไปหุ้มห่อของเน่าเหม็น ใบไม้นั้นก็จะ เหม็นไปด้วย หากห่อของหอมใบไม้ นั้นก็จะหอม ปราชญ์จึงเลือกคบแต่คนดี หากคบ คนชั่วก็จะพลอย แปดเปื้อน เหมือนลูกศรอาบยาพิษ ย่อมทำให้แล่งศรแปดเปื้อนไปด้วย" ราชกุมารีกราบทูลต่อว่า "หม่อมฉันรำลึกได้ว่า ในชาติก่อนได้เคยเกิดเป็นบุตรช่างทาง ได้คบหา มิตรกับ คนชั่ว ก็พลอยกระทำแต่สิ่งที่ชั่วร้าย ครั้น ชาติต่อมาเกิดในตระกูลเศรษฐี มีมิตรดีจึงได้พลอย บำเพ็ญบุญบ้าง เมื่อตายไป ผลกรรมก็ตามมาทัน หม่อมฉันต้องไปทนทุกข์ทรมาณในนรกอยู่เป็นเวลา หลายชาติ หลายภพ ครั้นได้เกิดเป็นมนุษย์ก็ต้องทน ทุกข์รำเค็ญมากมาย กว่าจะใช้หนี้กรรมนั้นหมด และผลบุญ เริ่มส่งผล จึงได้มาเกิดในที่ดีขึ้นเป็นลำดับ อันผลบุญผลบาปย่อมติดตามเราไปทุกๆ ชาติ ไม่มีหยุด ย่อมได้รับผลตามกรรมที่ก่อไว้ทุกประการ ขอพระบิดาจงฟังคำหม่อมฉันเถิด"

   พระราชามิได้เชื่อคำรุจาราชกุมารี ยังคงยึดมั่น ตามที่ได้ฟังมาจากคุณาชีวก เจ้าหญิงทรงเป็น ทุกข์ถึงผลที่ พระบิดาจะได้รับเมื่อสิ้นพระชนม์ จึง ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า "หากเทพยดาฟ้าดินมีอยู่ ขอได้โปรดมาช่วยเปลื้องความเห็นผิดของ พระบิดาด้วยเถิด จะได้บังเกิดสุขแก่ปวงชน" ขณะนั้น มีพรหมเทพองค์หนึ่งชื่อ นารท เป็นผู้มี ความกรุณาในสรรพสัตว์ มักอุปการะเกื้อกูลผู้อื่น อยู่เสมอ นารทพรหมเล็งเห็นความทุกข์ของ รุจาราชกุมารี และเล็งเห็นความเดือดร้อนอันจะเกิด แก่ประชาชน หากพระราชาทรงเป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงเสด็จจากเทวโลกแปลงเป็นบรรพชิต เอาภาชนะ ทองใส่สาแหรกข้างหนึ่ง คนโทแก้วใส่สาแหรก อีกข้างหนึ่ง ใส่คานทาน วางบนบ่าเหาะมาสู่ปราสาท พระเจ้า อิงคติราช มาลอยอยู่ตรงหน้าพระพักตร์ พระราชาทรงตกตะลึงตรัสถามว่า "ข้าแต่ท่าน ผู้มีวรรณะงามราวจันทร์เพ็ญ ท่านมาจากไหน" นารทพรหมตอบว่า "อาตมาภาพมากจากเทวโลก มีนามว่า นารท" พระราชาตรัสถามว่า "เหตุใดท่าน จึงมีฤทธิ์ลอยอยู่ในอากาศได้เช่นนั้น น่าอัศจรรย์"

"อาตมาภาพบำเพ็ญคุณธรรม 4 ประการ ในชาติ ก่อนคือ สัจจะ ธรรมะ ทมะ และจาคะ จึงมีฤทธิ์เดช ไป ไหนได้ตามใจปรารถนา"
   "ผลบุญมีด้วยหรือ ถ้าผลบุญมีจริงอย่างที่ท่านว่า ได้โปรดอธิบายให้ข้าพเจ้าทราบด้วยเถิด"

พระนารท พรหมจึงอธิบายว่า "ผลบุญมีจริง ผลบาปก็มีจริง มี เทวดา มีบิดามารดา มีปรโลก มีทุกสิ่งทุกอย่างทั้งนั้น แต่เหล่าผู้งมงายหาได้รู้ไม่" พระราชาตรัสว่า "ถ้าปรโลกมีจริง ขอยืมเงิน ข้าพเจ้าสักห้าร้อยเถิด ข้าพเจ้าจะใช้ให้ท่าน ในโลกหน้า" พระนารทตอบว่า "ถ้าท่านเป็นผู้ ประพฤติธรรม มากกว่าห้าร้อยเราก็ให้ท่านยืมได้ เพราะเรารู้ว่าผู้อยู่ใน ศีลธรรม ผู้ประพฤติกรรมดี เมื่อเสร็จจากธุระแล้ว ก็ย่อมนำเงินมาใช้คืนให้เอง แต่อย่างท่านนี้ตายไป แล้วก็จะต้องไปเกิดในนรก ใครเล่าจะตามไปทวงทรัพย์คืนจากท่านได้"
   พระราชาไม่อาจตอบได้ จึงนิ่งอั้นอยู่ นารทพรหม ทูลว่า "หากพระองค์ยังทรงมีมิจฉาทิฏฐิอยู่ เมื่อสิ้น พระชนม์ ก็ต้องไปสู่นรก ทนทุกขเวทนาสาหัส ในโลกหน้าพระองค์ก็จะต้องชดใช้ผลบาปที่ได้ก่อไว้ ในชาตินี้" พระนารทได้โอกาสพรรณนาความทุกข์ ทรมานต่างๆ ในนรกให้พระราชาเกิดความสะพรึงกลัว เกิดความสยดสยองต่อบาป พระราชาได้ฟังคำพรรณนา ก็สลดพระทัยยิ่งนัก รู้พระองค์ว่าได้ดำเนินทางผิด จึงตรัสว่า "ได้โปรดเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าด้วยเถิด บัดนี้ ข้าพเจ้าเกิดความกลัวภัยในนรก ขอท่านจง เป็นแสงสว่างส่องทางให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด โปรด สอนธรรมะให้แก่ข้าพเจ้าผู้ได้หลงไปในทางผิด ขอจง บอกหนทางที่ถูกต้องแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด" พระนารทพรหมฤษีจึงได้โอกาสตรัสสอนธรรมะ แก่พระราชาอังคติราช ทรงสอนให้พระราชตั้งมั่น ในทาน ในศีล อันเป็นหนทางไปสู่สวรรค์เทวโลก แล้วจึงแสดงธรรมเปรียบร่างกายกับรถ เพื่อให้ พระราชาทรงเห็นว่า รถที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนอันดี อันถูกต้องแล่นไปในทางที่เรียบรื่น มีสติเป็นประดุจปฏัก มีความ เพียรเป็นบังเหียน และมีปัญญาเป็นห้ามล้อ รถอันประกอบด้วยชิ้นส่วนอันดีนั้นก็จะแล่นไปใน ทางที่ถูกต้อง โดยปราศจากภัยอันตราย พระราชาอังคติราชทรงละมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด ละหนทางบาป นารถพรหมฤษีจึงถวายโอวาทว่า "ขอพระองค์จะละบาปมิต คบแต่กัลยาณมิตร อย่าได้ ทรงประมาทเลย" ในระหว่างนั้น พระนารทพรหม ฤษีได้อันตรธานหายไป พระราชาก็ทรงตั้งมั่นในศีล ในธรรม ทรงเริ่มทำบุญทำทาน ทรงเลือกคบแต่ผู้ที่จะ นำไปในทางที่ถูกที่ควร เมื่อพระราชาทรงตั้งอยู่ใน ทศพิธราชธรรม ประชาชนก็มีความสุข บ้านเมืองสงบ ร่มเย็น สมดังที่พระนารทพรหมฤษีทรงกล่าวว่า

" จงละบาปมิตร จงคบกัลยาณมิตร จงทำบุญละจากบาป ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด "
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำดีย่อมได้ดี ทำผิดบาปย่อมได้ชั่วช้าสามานย์เป็นผลตอบ และการคบมิตรสหายนั้นก็จะส่งผลดีเลวแก่ตัวบุคคลนั้นด้วย"
http://www.dhammathai.org/chadok/legend08.php


๗. จั น ท ช า ด ก

นครั้งโบราณ เมืองพารานสี มีชื่อว่า บุปผวดี มีกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าเอกราชา พระราชบุตรองค์ใหญ่ พระนามว่า จันทกุมาร ดำรงตำแหน่งเป็นอุปราช และ พราหมณ์ชื่อกัณฑหาล เป็นปุโรหิตในราชสำนัก กัณฑหาล มีหน้าที่ตัดสินคดีความอีกตำแหน่ง แต่กัณฑหาลเป็นคน ไม่ยุติธรรม ไม่ซื่อสัตย์ มักจะรับสินบนจากคู่ความอยู่เสมอ ข้างไหนให้สินบนมาก ก็จะตัดสินความเข้าข้างนั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง ผู้ที่ได้รับความอยุติธรรมร้องโพนทนา โทษของกัณฑหาล ได้ยินไปถึงพระจันทกุมาร จึงตรัสถาม ว่าเกิดเรื่องอะไร บุคคลนั้นจึงทูลว่า "กัณฑหาลปุโรหิต มิได้เป็นผู้ทรงความยุติธรรม หากแต่รับสินบน ก่อความ อยุติธรรมให้เกิดขึ้นเนืองๆ" พระจันทกุมารตรัสว่า "อย่า กลัวไปเลย เราจะเป็นผู้ให้ ความยุติธรรมแก่เจ้า" แล้ว พระจันทกุมารก็ทรงพิจารณาความอีกครั้ง ตัดสินไปโดย ยุติธรรม เป็นที่พึงพอใจแก่ประชาชนทั้งหลาย ฝูงชนจึง แซ่ซ้องสดุดีความยุติธรรมของพระจันทกุมาร พระเจ้าเอกราชาทรงได้ยินเสียงแซ่ซ้อง จึงตรัสถาม ครั้นทรงทราบจึงมีโองการว่า "ต่อไปนี้ ให้จันทกุมาร แต่ผู้เดียวทำหน้าที่ตัดสินคดีความทั้งปวงให้ยุติธรรม" กัณฑหาลเมื่อถูกถอดออกจากตำแหน่งหน้าที่ ก็เกิด ความเคียดแค้นพระจันทกุมาร ว่าทำให้ตนขาดผล ประโยชน์ และได้รับความอับอายขายหน้าประชาชน จึงผูกใจพยาบาทแต่นั้นมา

   อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าเอกราช ทรงฝันเห็นสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ เห็นความผาสุกสวยงาม ความรื่นรมย์ ต่างๆ นานา ในสรวงสวรรค์ เมื่อตื่นจากฝัน พระองค์ ยังทรงอาลัยอาวรณ์อยู่ และปรารถนาจะได้ไปสู่ ดินแดนอันเป็นสุขนั้น จึงตรัสถามบรรดาผู้ที่พระองค์ คิดว่าจะสามารถบอกทางไปสู่เทวโลกให้แก่พระองค์ได้ กัณฑหาลได้โอกาส จึงกราบทูลว่า "ข้าแต่พระราชา ผู้ที่ประสงค์จะไปสู่สวรรค์ มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้นคือ ทำบุญให้ทาน และฆ่าบุคคลที่ไม่ควรฆ่า" พระราชาตรัส ถามว่า "ฆ่าบุคคลที่ไม่ควรฆ่า หมายความว่าอย่างไร" กัณฑหาลทูลตอบว่า "พระองค์จะต้องการกระทำการ บูชายัญด้วยพระราชบุตร พระมเหสี ประชาชนหญิงชาย เศรษฐี และช้างแก้ว ม้าแก้ว จำนวนอย่างละสี่ จึงจะไป สู่สวรรค์ได้" ด้วยความที่อยากจะไปเสวยสุขในสวรรค์ พระเจ้าเอกราชาก็ทรงเห็นดีที่จะทำบูชายัญตามที่กัณฑหาล ผู้มี จิตริษยาพยาบาททูลแนะ พระองค์ทรงระบุชื่อ พระราช บุตรพระมเหสี เศรษฐี ประชาชน และช้างแก้ว ม้าแก้ว ที่จะ บูชายัญด้วยพระองค์เอง อันที่จริงกัณฑหาลประสงค์ร้าย กับพระจันทกุมารองค์เดียวเท่านั้น แต่ครั้นจะให้บูชายัญ พระจันทกุมารแต่ลำพัง ก็เกรงว่าผู้คนจะสงสัย จึงต้องให้ บูชายัญเป็นจำนวนสี่ พระจันทกุมารผู้เป็นโอรสองค์ใหญ่ ก็ทรงอยู่ในจำนวนชื่อที่พระเจ้าเอกราชาโปรดให้นำมาทำ พิธีด้วย จึงสมเจตนาของกัณฑหาล เมื่อช้าง ม้า และบุคคล ที่ถูกระบุชื่อ ถูกนำมาเตรียมเข้าพิธี ก็เกิดความโกลาหล วุ่นวาย มีแต่เสียงผู้คน ร้องไห้คร่ำครวญไปทั่ว พระจันทกุมารนั้น เมื่อราชบุรุษไปกราบทูลก็ทรงถามว่า ใครเป็นผู้ทูลให้พระราชาประกอบพิธีบูชายัญ ราชบุรุษ ทูลว่ากัณฑหาล ก็ทรงทราบว่าเป็นเพราะความ ริษยาพยาบาทที่ กัณฑหาลมีต่อพระองค์เป็นสาเหตุ ในเวลาที่ราชบุรุษไปจับเศรษฐีทั้งสี่มาเข้าพิธีนั้น บรรดาญาติพี่น้องต่างพยายามทูลวิงวอนขอชีวิตต่อ พระราชา แต่พระราชาก็ไม่ทรงยินยอม เพราะมี พระทัยลุ่มหลงในภาพเทวโลก และเชื่องมงายในสิ่งที่ กัณฑหาลทูล

   ต่อมาเมื่อพระบิดาพระมารดาของ พระราชาเอง ทรงทราบก็รีบเสด็จมาทรงห้ามปรามว่า "ลูกเอ๋ยทางไปสวรรค์ที่ต้องฆ่าบุตรภรรยา ต้องเบียด เบียนผู้อื่นนั้น จะเป็นไปได้อย่างไร การให้ทาาน การ งดเว้นการเบียดเบียนต่างหาก เป็นทางสู่สวรรค์" พระราชาก็มิได้ทรงฟังคำห้ามปรามของพระบิดา พระมารดา พระจันทกุมารทรงเห็นว่าเป็นเพราะ พระองค์เองที่ไปขัดขวางหนทางของคนพาลคือ กัณฑหาล ทำให้เกิดเหตุใหญ่ จึงทรงอ้อนวอนพระบิดา ว่า "ขอพระองค์โปรดประทานชีวิต ข้าพเจ้าทั้งปวงเถิด แม้จะจองจำเอาไว้ก็ยังได้ใช้ประโยชน์ จะให้เป็น ทาส เลี้ยงช้าง เลี้ยงม้า หรือขับไล่ไปเสียจากเมืองก็ย่อมได้ ขอประทานชีวิตไว้เถิด" พระราชาได้ฟังพระราชบุตร ก็ทรงสังเวชพระทัยจน น้ำพระเนตรไหล ตรัสให้ปล่อย พระราชบุตร พระมเหสี และทุกสิ่งทุกคนที่จับมาทำพิธี ครั้นกัณฑหาลทราบ เข้าขณะเตรียมพิธีก็รีบมาทูบคัดค้าน และ ล่อลวงให้ พระราชาคล้อยตามด้วยความหลงใหลในสวรรค์อีก พระราชาก็ทรงเห็นดีไปตามที่กัณฑหาล ชักจูง พระจันทกุมารจึงทูลพระบิดาว่า "เมื่อข้าพเจ้ายังเล็กๆ อยู่ พระองค์โปรดให้พี่เลี้ยง นางนม ทะนุ บำรุงรักษา ครั้นโตขึ้นจะกลับมาฆ่าเสียทำไม ข้าพเจ้าย่อมกระทำ ประโยชน์แก่พระองค์ได้ พระองค์จะ ให้ฆ่าลูกเสีย แล้วจะอยู่กับคนอื่นที่มิใช่ลูกจะเป็นไปได้อย่างไร ในที่สุดเขาก็คงจะฆ่าพระองค์เสียด้วย พราหมณ์ที่สังหาร ราชตระกูล จะถือว่าเป็นผู้มีคุณประโยชน์ได้อย่างไร พราหมณ์นั้นคือผู้เนรคุณ" พระราชาได้ฟัง ก็สลดพระทัย สั่งให้ปล่อยทุกชีวิต ไปอีกครั้ง แต่ครั้นพราหมณ์กัณฑหาลเข้ามากราบทูล ก็ทรงเชื่ออีก พระจันทกุมารก็กราบทูลพระบิดาว่า "ข้าแต่พระบิดา หากคนเราจะไปสวรรค์ ได้เพราะ การกระทำบูชายัญ เหตุใดพราหมณ์จึงมิทำบูชายัญ บุตรภรรยาของตนเองเล่า เหตุใดจึงได้ชักชวนให้คน อื่นกระทำ

   ในเมื่อพราหมณ์ก็ได้ทูลว่า คนผู้ใดทำ บูชายัญเองก็ดี คนผู้นั้นย่อมไปสู่สวรรค์ เช่นนั้นควรให้ พราหมณ์กระทำบูชายัญด้วยบุตรภรรยาตนเองเถิด" ไม่ว่าพระจันทกุมารจะกราบทูลอย่างไร พระราชา ก็ไม่ทรงฟัง บุคคลอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้ง พระวสุลกุมารผู้เป็นราชบุตรของพระจันทกุมาร มาทูลอ้อนวอน พระเจ้าเอกราชาก็ไม่ทรงยินยอมฟัง ฝ่ายกัณฑหาลเกรงว่าจะมีคนมาทูลชักจูงพระราชาอีก จึงสั่งให้ปิดประตูวัง และทูลเชิญพระราชาให้ไป อยู่ในที่อันคนอื่นเข้าไปเฝ้ามิได้ เมื่อถึงเวลาทำพิธี มีแต่เสียงคร่ำครวญของราชตระกูล และฝูงชนที่ญาติ พี่น้องถูกนำมาเข้าพิธี ในที่สุด นางจันทาเทวีผู้เป็นชายา ของพระจันกุมาร ซึ่งได้พยายามทูลอ้อนวอนพระราชา สักเท่าไรก็ไม่เป็นผล ก็ได้ ติดตามพระจันทกุมารไป สู่หลุมยัญด้วย เมื่อกัณฑหาลนำถาดทองมาวางรอไว้ และเตรียมพระขรรค์จะบั่นคอพระจันทกุมาร พระนางจันทาเทวีก็เสด็จไปสู่หลุมยัญ ประนมหัตถ์บูชา และกล่าวสัจจวาจาขึ้นว่า "กัณฑหาลพราหมณ์เป็น คนชั่วเป็นผู้มีปัญญาทราม มีจิตมุ่งร้ายพยาบาท ด้วยเหตุแห่งวาจาสัตย์นี้ เทวดา ยักษ์ และสัตว์ทั้งปวง จงช่วยเหลือเรา ผู้ไร้ที่พึ่ง ผู้แสวงหาที่พึ่ง ขอให้เราได้อยู่ร่วมกับสามีด้วยความสวัสดีเถิด ขอให้พระเป็นเจ้า ทั้งหลายจงช่วยสามีเรา ให้เป็นผู้ที่ศัตรูทำร้ายมิได้เถิด" เมื่อพระนางกระทำสัจจกริยา พระอินทร์ได้สดับ ถ้อยคำนั้น จึงเสด็จมาจากเทวโลก ทรงถือค้อนเหล็กมี ไฟลุกโชติช่วง ตรงมายังพระราชา กล่าวว่า "อย่าให้เรา ถึงกับต้องใช้ค้อนนี้ประหารเศียรของท่านเลย มีใครที่ ไหนบ้าง ที่ฆ่าบุตร ภรรยา และเศรษฐีคหบดีผู้ไม่มีความ ผิดเพื่อที่ตนเองจะได้ไปสวรรค์ จงปล่อยบุคคลผู้ปราศ จากความผิดทั้งปวงเสียเดี๋ยวนี้" พระราชาตกพระทัยสุดขีด สั่งให้คนปลดปล่อยคน ทั้งหมดจากเครื่องจองจำ

   ในทันใดนั้นประชาชนที่รุม ล้อมอยู่ก็ช่วยกันเอาก้อนหิน ก้อนดินและท่อนไม้ เข้าขว้างปาทุบตีกัณฑหาลพราหมณ์จนสิ้นชีวิตอยู่ ณ ที่นั้น แล้วหันมาจะฆ่าพระราชา แต่พระจันทกุมารตรงเข้ากอด พระบิดาไว้ ผู้คนทั้งหลายก็ไม่กล้าทำร้าย ด้วยเกรง พระจันทกุมารจะพลอยบาดเจ็บ ในที่สุดจึงประกาศว่า "เราจะไว้ชีวิตแก่พระราชาผู้โฉดเขลา แต่จะให้ครองแผ่นดิน มิได้" เราถอดพระยศพระราชาเสียให้เป็นคนจัณฑาล แล้วไล่ออกจากพระนครไป จากนั้นมหาชนก็กระทำพิธีอภิเษกพระจันทกุมารขึ้น เป็นพระราชา ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความยุติธรรม เมื่องทรงทราบว่าพระบิดาตกระกำลำบากอยู่นอกเมือง ก็ทรงให้ความช่วยเหลือพอที่พระบิดาจะดำรงชีพอยู่ได้ พระจันทกุมารปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ตลอดมาจนถึงที่สุดแห่งพระชนม์ชีพ ก็ได้เสด็จไปเสวยสุข ในเทวโลก ด้วยเหตุที่ทรงเป็น ผู้ปกครองที่ดี ที่ทรงไว้ซึ่ง ความยุติธรรม ไม่หลงเชื่อ วาจาคนโดยง่าย และ ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อตรง

เรื่องอาฆาตจองเวรนั้น ย่อมให้ทุกข์กลับคืนแก่ตนในที่สุด และความเขลาหลงในทรัพย์และสุขของผู้อื่นก็ย่อมให้ผลร้ายแก่ตัวได้ในไม่ช้าเช่นกัน"

http://www.dhammathai.org/chadok/legend07.php

๖. ภู ริ ทั ต ช า ด ก

ระราชาพระองค์หนึ่ง พระนามว่า "พรหมทัต" ครอง ราชสมบัติอยู่ที่เมืองพาราณสี พระโอรสทรงดำรง ตำแหน่งอุปราช อยู่ต่อมาพระราชาทรงระแวงว่า พระโอรสจะคิดขบถ แย่งราชสมบัติ จึงมีโองการให้ พระโอรสออกไปอยู่ให้ไกลเสียจากเมือง จนกว่าพระราชา จะสิ้นพระชนม์จึงให้กลับมารับราชสมบัติ พระโอรสก็ปฏิบัติ ตามบัญชา เสด็จไปบวชอยู่ที่บริเวณแม่น้ำชื่อว่า "ยุมนา" มีนางนาคตนหนึ่งสามีตาย ต้องอยู่แต่เพียงลำพัง เกิดความ ว้าเหว่จนไม่อาจทนอยู่ในนาคพิภพได้ จึงขึ้น มาจากน้ำ ท่องเที่ยวไปตามริมฝั่งมาจนถึงศาลาที่พักของพระราชบุตร นางนาคประสงค์จะลองใจดูว่า นักบวชผู้พำนักอยู่ในศาลานี้ จะเป็นผู้ที่บวชด้วยใจเลื่อมใสอย่างแท้จริงหรือไม่ จึงจัดประดับ ประดาที่นอนในศาลานั้นด้วยดอกไม้หอม และของทิพย์จาก เมืองนาค

   ครั้นพระราชบุตรกลับมา เห็นที่นอนจัดงดงาม น่าสบายก็ยินดีประทับนอนด้วยความสุขสบายตลอดคืน รุ่งเช้าก็ออกจากศาลาไป นางนาคก็แอบดู พบว่าที่นอน มีรอยคนนอน จึงรู้ว่านักบวชผู้นี้มิได้บวชด้วยความศรัธรา เต็มเปี่ยม ยังคงยินดีในของสวยงาม ตามวิสัยคนมีกิเลส จึงจัดเตรียมที่นอนไว้ดังเดิมอีก ในวันที่สาม พระราชบุตรมีความสงสัยว่า ใครเป็นผู้จัด ที่นอนอันสวยงามไว้ จึงไม่เสด็จออกไปป่า แต่แอบดูอยู่บริเวณ ศาลานั่นเอง เมื่อนางนาคเข้ามาตกแต่งที่นอน พระราชบุตร จึงไต่ถามนางว่า นางเป็นใครมาจากไหน นางนาคตอบว่า นางเป็นนาคชื่อมาณวิกา นางว้าเหว่าที่สามีตาย จึงออกมา ท่องเที่ยวไป พระราชบุตรมีความยินดีจึงบอกแก่นางว่า หากนางพึงพอใจจะอยู่ที่นี่ พระราชบุตรก็จะอยู่ด้วยกับนาง นางนาคมาณวิกาก็ยินดี ทั้งสองจึงอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยา

   จนนางนาคประสูติโอรสองค์หนึ่ง ชื่อว่า "สาครพรหมทัต" ต่อมาก็ประสูติพระธิดาชื่อว่า "สมุทรชา" ครั้นเมื่อพระเจ้าพรหมทัตสวรรคต บรรดาเสนาอำมาตย์ ทั้งหลายไม่มีผู้ใดทราบว่าพระราชบุตรประทับ อยู่ ณ ที่ใด บังเอิญพรานป่าผู้หนึ่งเข้ามาแจ้งข่าวว่า ตนได้เคยเที่ยวไปแถบ แม่น้ำยมุนา และได้พบพระราชบุตรประทับอยู่บริเวณนั้นอำมาตย์ จึงได้จัดกระบวนไปเชิญเสด็จพระราชบุตรกลับมาครองเมือง พระราชบุตรทรงถามนางนาคมาณวิกาว่า จะไปอยู่ เมืองพาราณสีด้วยกันหรือไม่ นางนาคทูลว่า "วิสัยนาค นั้นโกรธง่ายและมีฤทธิ์ร้าย หากหม่อมฉันเข้าไปอยู่ในวัง แล้วมีผู้ใดทำให้โกรธ เพียงหม่อมฉัน ถลึงตามอง ผู้นั้นก็จะ มอดไหม้ไป พระองค์พาโอรสธิดากลับไปเถิด ส่วนหม่อมฉัน ขอทูลลากลับไปอยู่เมืองนาค ตามเดิม" พระราชบุตรจึงพา โอรสธิดากลับไปพาราณสีอภิเษกเป็นพระราชา อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่โอรสธิดาเล่นน้ำอยู่ในสระ เกิดตกใจกลัวเต่า ตัวหนึ่ง พระบิดาจึงให้คนจับเต่านั้นไป ทิ้งที่วันน้ำวนในแม่น้ำ ยมุนา เต่าจมลงไปถึงเมืองนาค เมื่อถูกพวกนาคจับไว้ เต่าก็ออก อุบาย บอกแก่ นาคว่า "เราเป็นทูตของพระราชาพาราณสี พระองค์ ให้เรามาเฝ้าท้าวธตรฐ พระราชทานพระธิดาให้เป็นพระชายา ของท้าวธตรฐ เมืองพาราณสีกับนาคพิภพจะได้เป็นไมตรีกัน"

   ท้าวธตรฐทรงทราบก็ยินดี สั่งให้นาค 4 ตนเป็นทูตนำ บรรณาการไปถวายพระราชาพาราณสีและขอรับตัว พระธิดามาเมืองนาค พระราชาทรงแปลกพระทัย จึงตรัสกับ นาคว่า "มนุษย์กับนาคนั้นต่างเผ่าพันธุ์กัน จะแต่งงานกัน นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้" เหล่านาคได้ฟังดังนั้น จึงกลับไปกราบทูลท้าวธตรฐว่า พระราชาพาราณสีทรงดูหมิ่นว่านาคเป็นเผ่าพันธุ์งู ไม่คู่ควรกับพระธิดา ท้าวธตรฐทรงพิโรธ ตรัสสั่งให้ฝูงนาค ขึ้นไปเมืองมนุษย์ ไปเที่ยวแผ่พังพานแสดง อิทธิฤทธิ์อำนาจ ตามที่ต่างๆ แต่มิให้ทำอันตรายชาวเมือง ชาวเมืองพากันเกรงกบัวนาคจนไม่เป็นอันทำมาหากิน ในที่สุดพระราชาก็จำพระทัยส่ง นางสมุทรชา ให้ไปเป็นชายา ท้าวธตรฐ นางสมุทรชาไปอยู่เมืองนาคโดยไม่รู้ว่าเป็นเมืองนาค เพราะท้าวธตรฐให้เหล่า บริวารแปลงกายเป็นมนุษย์ทั้งหมด นางอยู่นาคพิภพด้วยความสุขสบาย จนมีโอรส 4 องค์ ชื่อว่า สุทัศนะ ทัตตะ สุโภคะ และ อริฏฐะ อยู่มาวันหนึ่ง อริฏฐะได้ฟังนาคเพื่อนเล่นบอกว่า พระมารดาของตนไม่ใช่นาค จึงทดลองดูโดยเนรมิต กายกลับเป็นงู ขณะที่กำลังกินนมแม่อยู่ นางสมุทรชาเห็นลูก กลายเป็นงูก็ตกพระทัย ปัดอริฏฐะตกจากตัก เล็บของนาง ไปข่วนเอานัยน์ตาอรฏฐะบอกไปข้างหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมา นางจึงรู้ว่าได้ลงมาอยู่เมืองนาค

   ครั้นเมื่อพระโอรสทั้ง 4 เติบโตขึ้น ท้าวธตรฐก็ทรงแบ่งสมบัติ ให้ครอบครองคนละเขต ทัตตะผู้เป็นโอรส องค์ที่สองนั้น มาเฝ้าพระบิามารดาอยู่เป็นประจำ ทัตตะเป็นผู้มีปัญญา เฉลียวฉลาดได้ช่วยพระบิดาแก้ไข ปัญหาต่างๆอยู่เป็นนิตย์ แม้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเทวดา ทัตตะก็แก้ไขได้จึงได้รับการยกย่อง สรรเสริญว่า เป็นผู้ปรีชาสามารถ ได้รับขนานนามว่า ภูริทัตต์ คือ ทัตตะผู้เรืองปัญญา ภูริทัตต์ได้เคยไปเห็นเทวโลก ว่าเป็นที่น่ารื่นรมย์จึงตั้งใจว่า จะรักษาอุโบสถศีลเพื่อจะได้ไปเกิดใน เทวโลก จึงทูล ขออนุญาตพระบิดา ก็ได้รับอนุญาต แต่ท้าวธตรฐสั่งว่า มิให้ออกไปรักษาอุโบสถนอก เขตเมืองนาค เพราะอาจ เป็นอันตราย ครั้นเมื่อรักษาศีลอยู่ในเมืองนาค ภูริทัตต์ รำคาญว่าพวกฝูงนาคบริวาร ได้ห้อมล้อม ปรนนิบัติเฉพาะในตอนเช้าเท่านั้น ตั้งแต่นั้นมา ภูริทัตต์ก็ขึ้นไปรักษาอุโบสถศีลอยู่ที่จอมปลวก ใกล้ต้นไทรริมแม่น้ำยมุนา ภูริทัตต์ตั้งจิต อธิษฐานว่า แม้ผู้ใดจะต้องการหนัง เอ็น กระดูก เลือดเนื้อของตน ก็จะยอมบริจาคให้ ขอเพียงให้ได้ รักษาศีลให้บริสุทธิ์

   ครั้งนั้นมีนายพรานชื่อ เนสาท ออกเที่ยวล่าสัตว์ เผอิญได้ พบภูริทัตต์เข้า สอบถามรู้ว่าเป็นโอรสของ ราชาแห่งนาค ภูริทัตต์เห็นว่าเนสาทเป็นพรานมีใจบาปหยาบช้า อาจเป็น อันตรายแก่ตน จึงบอกแก่ พรานเนสาทว่า "เราจะพาท่าน กับลูกชาย ไปอยู่เมืองนาคของเรา ท่านทั้งสองจะมีความสุข สบายในเมือง นาคนั้น" พรานเนสาทลงไปอยู่เมืองนาค ได้ไม่นาน เกิดคิดถึงเมืองมนุษย์จึงปรารภกับภูริทัตต์ว่า "ข้าพเจ้าอยากจะกลับไปเยี่ยมญาติพี่น้อง แล้วจะออกบวช รักษาศีลอย่างท่านบ้าง" ภูริทัตต์รู้ด้วยปัญญาว่าพรานจะเป็นอันตรายแก่ตน แต่ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไรดี จึงต้องพาพรานกลับไป เมืองมนุษย์ พรานพ่อลูกก็ออกล่าสัตว์ต่อไปตามเดิม มีพญาครุฑตนหนึ่งอาศัยอยู่บนต้นงิ้ว ทางมหาสมุทรด้านใต้ วันหนึ่งขณะออกไปจับนาคมากิน นาคเอาหางพันกิ่งไทรที่อยู่ ท้ายศาลาพระฤาษี จนต้นไทรถอนรากติดมาด้วย ครั้นครุฑ ฉีกท้องนาคกินมันเหลว แล้วทิ้งร่างนาคลงไป จึงเห็นว่า มีต้นไทรติดมาด้วย ครุฑรู้สึกว่าได้ทำผิด คือถอนเอา ต้นไทรที่พระฤาษี เคยอาศัยร่มเงา จึงแปลงกายเป็นหนุ่ม น้อยไปถามพระฤาษีว่า เมื่อต้นไทรถูกถอนเช่นนี้ กรรมจะตก อยู่กับใคร พระฤาษีตอบว่า "ทั้งครุฑและนาคต่างก็ไม่มี เจตนาจะถอนต้นไทรนั้น กรรมจึงไม่มีแก่ผู้ใดทั้งสิ้น"

   ครุฑดีใจจึงบอกกับพระฤาษีว่าตนคือครุฑ เมื่อพระฤาษี ช่วยแก้ปัญหาให้ตนสบายใจขึ้นก็จะสอนมนต์ชื่อ อาลัมพายน์ อันเป็นมนต์สำหรับครุฑใช้จับนาค ให้แก่พระฤาษี อยู่มาวันหนึ่ง มีพราหมณ์ซึ่งเป็นหนี้ชาวเมืองมากมาย จนคิด ฆ่าตัวตาย จึงเข้าไปในป่า เผอิญได้พบพระฤาษี จึงเปลี่ยนใจ อยู่ปรนนิบัติพระฤาษีจนพระฤาษีพอใจ สอนมนต์อาลัมพายน์ ให้แก่พราหมณ์นั้น พราหมณ์เห็นทางจะเลี้ยงตนได้ จึงลา พระฤาษีไป เดินสาธยายมนต์ไปด้วย นาคที่ขึ้นมาเล่นน้ำ ได้ยินมนต์ก็ตกใจ นึกว่าครุฑมา ก็พากันหนีลงน้ำไปหมด ลืมดวงแก้วสารพักนึกเอาไว้บนฝั่ง พราหมณ์หยิบ ดวงแก้วนั้นไป ฝ่ายพรานเนสาทก็เที่ยวล่าสัตว์อยู่ เห็นพราหมณ์เดินถือ ดวงแก้วมา จำได้ว่าเหมือนดวงแก้วที่ภูริทัตต์ เคยให้ดู จึงออกปากขอ และบอกแก่พราหมณ์ว่า หากพราหมณ์ ต้องการอะไรก็จะหามาแลกเปลี่ยน พราหมณ์บอกว่าต้องการ รู้ที่อยู่ของนาค เพราะตนมีมนต์จับนาค พรานเนสาทจึงพา ไปบริเวณที่รู้ว่า ภูริทัตต์เคยรักษาศีลอยู่ เพราะความโลภ อยากได้ดวงแก้ว

   โสมทัตผู้เป็นลูกชาย เกิดความละอายใจที่บิดาไม่ซื่อสัตย์ คิดทำร้ายมิตร คือภูริทัตต์ จึงหลบหนีไป ระหว่างทาง เมื่อไปถึงที่ภูริทัตต์รักษาศีลอยู่ ภูริทัตต์ลืมตาขึ้นดูก็รู้ว่า พราหมณ์คิดทำร้ายตน แต่หากจะตอบโต้ ถ้าพราหมณ์เป็น อันตรายไป ศีลของตนก็จะขาด ภูริทัตต์ปรารถนาจะรักษาศีล ให้บริสุทธิ์จึงหลับตาเสีย ขดกายแน่นิ่งไม่เคลื่อนไหว พราหมณ์ก็ร่ายมนต์อาลัมพายน์ เข้าไปจับภูริทัตต์ไว้กด ศีรษะอ้า ปากออก เขย่าให้สำรอกอาหารออกมา และทำร้าย จนภูริทัตต์เจ็บปวดแทบสิ้นชีวิต แต่ก็มิได้โต้ตอบ พราหมณ์จับ ภูริทัตต์ใส่ย่ามตาข่าย แล้วนำไปออกแสดงให้ประชาชนดูเพื่อหาเงิน พราหมณ์บังคับให้ภูริทัตต์แสดงฤทธิ์ต่างๆ ให้เนรมิตตัวให้ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ให้ขด ให้คลาย แผ่พังพาน ให้ทำสีกายเป็น สีต่างๆ พ่นไฟ พ่นควัน พ่นน้ำ ภูริทัตต์ก็ยอมทุกอย่าง ชาวบ้าน ที่มาดูเวทนาสงสาร จึงให้ ข้าวของเงินทอง พราหมณ์ก็ยิ่งโลภ พาภูริทัตต์ไปเที่ยวแสดง จนมาถึงเมืองพาราณสี จึงกราบทูล พระราชาว่าจะให้นาคแสดงฤทธิ์ถวายให้ทอดพระเนตร

   ขณะนั้นสมุทรชา ผิดสังเกตที่ภูริทัตต์หายไป ไม่มาเฝ้า จึงถามหา ในที่สุดก็ทราบว่า ภูริทัตต์หายไป พี่น้องของภูริทัตต์ จึงทูลว่าจะออกติดตาม สุทัศนะจะไปโลกมนุษย์ สุโภคะไป ป่าหิมพานต์ อริฏฐะไป เทวโลกส่วนนางอัจจิมุข ผู้เป็นน้องสาว ต่างแม่ของภูริทัตต์ของตามไปกับสุทัศนะพี่ชายใหญ่ด้วย เมื่อติดตามมาถึงเมืองพาราณสี สุทัศนะก็ได้ข่าวว่ามีนาค ถูกจับมาแสดงให้คนดู จึงตามไปจนถึงบริเวณที่แสดง ภูริทัตต์เห็นพี่ชาย จึงเลื้อยไข้าไปหาซบหัวร้องไห้อยู่ที่เท้า ของสุทัศนะแล้วจึงเลื้อยกลับไปเข้าที่ขัง ของตนตามเดิม พราหมณ์จึงบอกกับสุทัศนะว่า "ท่านไม่ต้องกลัว ถึงนาคจะ กัดท่านไม่ช้าก็จะหาย" สุทัศนะตอบว่า "เราไม่กลัวดอก นาคนี้ไม่มีพิษ ถึงกัดก็ไม่มีอันตราย" พราหมณ์หาว่าสุทัศนะ ดูหมิ่นว่าตน เอานาคไม่มีพิษมาแสดง จึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้น สุทัศนะจึงท้าว่า "เขียดตัวน้อยของเรานั้นยังมีพิษมากกว่า นาคของท่านเสียอีก จะเอามาลองฤทธิ์กันดูก็ได้" พราหมณ์ กล่าวว่าหากจะให้สู้กัน ก็ต้องมีเดิมพันจึงจะสมควร สุทัศนะจึง ทูลขอพระราชาพาราณสีให้เป็นผู้ประกันให้ตน โดยกล่าวว่า พระราชาจะได้ทอด พระเนตรการต่อสู้ระหว่างนาคกับเขียด เป็นการตอบแทน พระราชาก็ทรงยอมตกลงประกันให้แก่ สุทัศนะ สุทัศนะเรียก นางอัจจิมุข ออกมาจากมวยผมให้คายพิษ ลงบนฝ่ามือ 3 หยด แล้วทูลว่า "พิษของเขียดน้อยนี้แรงนัก เพราะนางเป็นธิดาท้าวธตรฐ ราชาแห่งนาค หากพิษนี้หยดลง บนพื้นดิน พืชพันธุ์ไม้จะตายหมด หากโยนขึ้นไปในอากาศ ฝนจะไม่ตกไป 7 ปี ถ้าหยดลงในน้ำสัตว์น้ำจะตายหมด" พระราชาไม่ทราบจะทำอย่างไรดี สุทัศนะจึงทูลขอให้ ขุดบ่อ 3 บ่อบ่อแรกใส่ยาพิษ บ่อที่สองใส่โคมัย บ่อที่สามใส่ยาทิพย์ แล้วจึงหยดพิษลงในบ่อแรก ก็เกิดควันลุกจนเป็นเปลวไฟ ลามไปติดบ่อที่สองและสาม จนกระทั่งยาทิพย์ไหม้หมด ไฟจึงดับ พราหมณ์ตัวร้าย ซึ่งยืนอยู่ข้างบ่อ ถูกไอพิษจนผิวหนังลอก กลายเป็นขี้เรื้อน ด่างไปทั้งตัว จึงร้องขึ้นว่า "ข้าพเจ้ากลัวแล้ว ข้าพเจ้าจะ ปล่อยนาคนั้นให้เป็นอิสระ" ภูริทัตต์ได้ยินดังนั้น ก็เลื้อยออกมาจากที่ขัง เนรมิตกาย เป็นมนุษย์ พระราชาจึงตรัสถามความเป็นมา ภูริทัตต์จึงตอบว่า "ข้าพเจ้าและพี่น้องเป็นโอรสธิดาของท้าวธตรฐราชาแห่งนาคกับ นางสมุทรชา ข้าพเจ้ายอมถูกจับมา ยอมให้พราหมณ์ทำร้ายจน บอบช้ำ เพราะปราถนาจะรักษาศีล บัดนี้ข้าพเจ้าเป็น อิสระแล้ว จึงขอลากลับไปเมืองนาคตามเดิม" พระราชาทรงดีพระทัยเพราะทราบว่าภูริทัตต์เป็นโอรสของ นางสมุทรชา น้องสาวของพระองค์ที่บิดายกให้แก่ราชานาคไป จึงเล่าให้ภูริทัตต์และพี่น้องทราบว่า เมื่อนางสมุทรชาไปสู่ เมืองนาคแล้ว พระบิดาก็เสียพระทัย จึงสละราชสมบัติ ออกบวช พระองค์จึงได้ครองเมืองพาราณสีต่อมา

   พระราชาประสงค์จะให้ นางสมุทรชาและบรรดาโอรสได้ไป เฝ้าพระบิดา จะได้ทรงดีพระทัย สุทัศนะทูลพระราชาว่า "ข้าพเจ้าจะ กลับไปทูลให้พระมารดาทราบ ขอให้พระองค์ ไปรออยู่ที่อาศรมของพระอัยกาเถิด ข้าพเจ้าจะพา พระมารดาและพี่น้องตามไปภายหลัง" ทางฝ่ายพรานเนสาท ผู้ทำร้ายภูริทัตต์เพราะหวังดวงแก้ว สารพัดนึก เมื่อตอนที่พราหมณ์โยนดวงแก้วให้ นั้น รับไม่ทัน ดวงแก้วจึงตกลงบนพื้นและแทรกธรณีกลับไปสู่เมืองนาค พรานเนสาทจึงสูญเสียดวงแก้ว สูญเสียลูกชาย และเสียไมตรี กับภูริทัตต์ เที่ยวซัดเซพเนจรไป ครั้นได้ข่าวว่าพราหมณ์ผู้จับ นาคกลายเป็น โรคเรื้อนเพราะพิษนาค ก็ตกใจกลัว ปราถนา จะล้างบาป จึงไปยังริมน้ำยมุนา ประกาศว่า "ข้าพเจ้าได้ ทำร้ายมิตร คือ ภูริทัตต์ ข้าพเจ้าปราถนาจะล้างบาป" พรานกล่าวประกาศอยู่ หลายครั้ง เผอิญขณะนั้น สุโภคะกำลังเที่ยวตามหาภูริทัตต์อยู่ ได้ยินเข้าจึงโกรธแค้น เอาหางพันขาพราน ลากลงน้ำให้จมแล้ว ลากขึ้นมาบนดินไม่ให้ถึงตาย ทำอยู่เช่นนั้นหลายครั้งพราน จึงร้องถามว่า "นี่ตัวอะไรกัน ทำไมมาทำร้าย เราอยู่เช่นนี้ ทรมาณเราเล่นทำไม" สุโภคะตอบว่าตนเป็นลูกราชานาค พรานจึงรู้ว่าเป็นน้องภูริทัตต์ ก็อ้อนวอนขอให้ปล่อยและกล่าว แก่สุโภคะว่า "ท่านรู้หรือไม่ เราเป็นพราหมณ์ ท่านไม่ควร ฆ่าพราหมณ์ เพราะพราหมณ์เป็นผู้บูชาไฟ เป็นผู้ทรงเวทย์ และเลี้ยงชีพด้วยการขอ ท่านไม่ควรทำร้ายเรา" สุโภคะไม่ทราบจะตัดสินใจอย่างไร จึงพาพรานเนสาทลงไป เมืองนาค คิดจะไปขอถามความเห็นจากพี่น้อง เมื่อไปถึงประตู เมืองนาค ก็พบอริฏฐะนั่งรออยู่ อริฏฐะนั้นเป็นผู้เลื่อมใสพราหมณ์ ครั้นรู้ว่าพี่ชายจับพราหมณ์มา จึงกล่าวสรรเสริญคุณของพราหมณ์ สรรเสริญความยิ่งใหญ่แห่งพรหม และกล่าวว่าพราหมณ์เป็นบุคคล ที่ไม่สมควรจะถูกฆ่า ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ การฆ่าพราหมณ์ซึ่ง เป็นผู้บูชาไฟนั้นจะทำ ให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง สุโภคะกำลังลังเลใจ ไม่ทราบจะทำอย่างไร พอดีภูริทัตต์กลับมาถึง ได้ยินคำของอริฏฐะจึงคิดว่า อริฏฐะ นั้นเป็นผู้เลื่อมใสพราหมณ์ และการบูชายัญของพราหมณ์ จำเป็นที่จะต้องกล่าววาจาหักล้าง มิให้ผู้ใด คล้อยตามในทางที่ผิด

   ภูริทัตต์จึงกล่าวชี้แจงแสดง ความเป็นจริง และในที่สุดได้กล่าวว่า "การบูชาไฟนั้น หาได้เป็น การบูชาสูงสุดไม่ หากเป็นเช่นนั้น คนเผาถ่าน คนเผาศพ ก็สมควรจะได้รับยกย่องว่าเป็นผู้บูชา ไฟยิ่งกว่าพราหมณ์ หากการบูชาไฟเป็นสูงสุด การเผาบ้านเมืองก็คงได้บุญสูงสุด แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ หากการบูชายัญจะเป็นบุญสูงสุดจริง พราหมณ์ก็น่าจะเผาตนเองถวายเป็นเครื่องบูชา แต่พราหมณ์กลับ บูชาด้วยชีวิตของผู้อื่น เหตุใดจึงไม่เผาตนเองเล่า" อริฏฐะกล่าวว่า พรหมเป็นผู้ทรงคุณยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้างโลก ภูริทัตต์ตอบว่า "หากพรหมสร้างโลกจริง ไฉนจึงสร้างให้โลก มีความทุกข์ ทำไมไม่สร้างให้โลกมีแต่ความสุข ทำไมพรหม ไม่สร้างให้ทุกคนมีความ เท่าเทียมกัน เหตุใดจึงแบ่งคนเป็น ชั้นวรรณะ คนที่อยู่ในวรรณะต่ำ เช่น ศูทร จะไม่มีโอกาสมี ความสุข เท่าเทียมผู้อื่นได้เลย พราหมณ์ต่างหากที่พยายาม ยกย่องวรรณะของตนขึ้นสูง และเหยียดหยามผู้อื่นให้ต่ำกว่า โดยอ้างว่าพราหมณ์เป็นผู้รับใช้พรหม เช่นนี้จะถือว่าพราหมณ์ ทรงคุณยิ่งใหญ่ได้อย่างไร" ภูริทัตต์กล่าววาจาหักล้างอริฏฐะด้วยความเป็นจริง ซิ่งอริฏฐะ ไม่อาจโต้เถียงได้ ในที่สุดภูริทัตต์จึงสั่งให้ นำพรานเนสาทไปเสีย จากเมืองนาค แต่ไม่ให้ทำอันตรายอย่างใด จากนั้นภูริทัตต์ก็พา พี่น้องและนางสมุทรชาผู้เป็นมารดา กลับไปเมืองมนุษย์ เพื่อไป เฝ้าพระบิดา พระเชษฐาของนางที่รอคอยอยู่แล้ว เมื่อญาติพี่น้องทั้งหลายพากันแยกย้ายกลับบ้านเมือง ภูริทัตต์ขออยู่ที่ศาลากับพระอัยกา บำเพ็ญเพียร รักษาอุโบสถศีล ด้วยความสงบ ดังที่ได้เคยตั้งปณิธานไว้ว่า "ข้าพเจ้าจะมั่นคงในการ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ จะไม่ให้ศีลต้องมัวหมอง ไม่ว่าจะต้องเผชิญความ ทุกข์ยากอย่างไร ข้าพเจ้าจะอดทน อดกลั้น ตั้งมั่นอยู่ ในศีลตลอดไป"
ความโลภนั้นเป็นสิ่งชั่วร้ายเช่นเดียวกับการเนรคุณ แต่ความอดทนย่อมประเสริฐยิ่งนักแล้ว

http://www.dhammathai.org/chadok/legend06.php


๕. ม โ ห ส ถ ช า ด ก

นเมืองมิถิลา มีเศรษฐีผู้หนึ่งมีนามว่า สิริวัฒกะ ภรรยาชื่อ นางสุมนาเทวี นางสุมนาเทวีมีบุตรชายคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อคลอด ออกมานั้นมีแท่งโอสถอยู่ในมือ เศรษฐีสิริวัฒกะเคยเป็นโรค ปวดศีรษะมานาน จึงเอาแท่งยานั้นฝนที่หินบดยา แล้วนำมา ทาหน้าผาก อาการปวดศีรษะก็หายขาด ครั้นผู้อื่นที่มีโรคภัย ไข้เจ็บมาขอปันยานั้นไปรักษาบ้าง ก็พากันหายจากโรค เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว เศรษฐีจึงตั้งชื่อบุตรว่า "มโหสถ" เพราะทารกนั้นมีแท่งยาวิเศษ เกิดมากับตัว เมื่อมโหสถเติบโตขึ้น ปรากฏว่ามีสติปัญญาเฉลียวฉลาด กว่าเด็กในวัยเดียวกัน

   ครั้งหนึ่งมโหสถเห็นว่า ในเวลาฝนตก ตนและเพื่อนเล่นทั้งหลายต้องหลบฝน ลำบากลำบนเล่นไม่สนุก จึงขอให้เพื่อนเล่นทุก คนนำเงินมารวมกันเพื่อสร้างสถานที่เล่น มโหสถจัดการออกแบบอาคารนั้นอย่างวิจิตรพิสดาร นอกจาก ที่เล่นที่กินและที่พักสำหรับคนที่ผ่านไปมาแล้ว ยังจัดสร้างห้อง วินิจฉัยคดีด้วย เพราะความที่มโหสถเป็นเด็กฉลาดเฉลียวเกินวัย จึงมักมีผู้คนมาขอให้ตัดสินปัญหาข้อพิพาท หรือแก้ใขปัญหาขัดข้อง ต่างๆ อยู่ เสมอ

   ชื่อเสียงของมโหสถเลื่องลือไปไกลทั่วมิถิลานคร ในขณะนั้น กษัตริย์เมืองมิถิลา ทรงพระนามว่า พระเจ้าวิเทหราช ทรงมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตประจำ ราชสำนัก 4 คน คือ เสนกะ ปุตกุสะ กามินท์ และ เทวินทะ บัณฑิตทั้ง 4 เคยกราบทูลว่าจะมี บัณฑิต คนที่ห้ามาสู่ราชสำนักพระเจ้าวิเทหราช พระองค์จึงโปรดให้ เสนาออกสืบข่าวว่า มีบัณฑิตผู้มีสติปัญญา ปราดเปรื่องอยู่ที่ใดบ้าง เสนาเดินทางมาถึงบริเวณบ้านของสิริวัฒกะเศรษฐี เห็นอาคารงดงาม จัดแต่งอย่างประณีตบรรจง จึงถามผู้คนว่าใครเป็นผู้ออกแบบ คนก็ ตอบว่า ผู้ออกแบบคือมโหสถบัณฑิต บุตรชายวัย 7 ขวบ ของสิริวัฒกะ เศรษฐี เสนาจึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช พระองค์ตรัสเรียก บัณฑิตทั้ง 4 มา ปรึกษาว่าควรจะไปรับมโหสถมาสู่ราชสำนักหรือไม่ บัณฑิตทั้ง 4 เกรงว่ามโหสถจะได้ดีเกินหน้าตนจึงทูลว่า ลำพังการออก แบบตกแต่งอาคารไม่นับว่าผู้นั้นจะมีสติปัญญาสูงถึงขั้นบัณฑิต ขอให้รอดูต่อไปว่า มโหสถจะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดจริงหรือไม่ ฝ่ายมโหสถนั้น มีชาวบ้านนำคดีความต่างๆ มาให้ตัดสินอยู่เป็นนิตย์ เป็นต้นว่า ชายเลี้ยงโคนอนหลับไป มีขโมยเข้ามาลักโค เมื่อตามไปพบ ขโมยก็อ้างว่าตนเป็นเจ้าของโค ต่างฝ่ายต่างถกเถียงอ้างสิทธิ์ ไม่มีใคร ตัดสินได้ว่าโคนั้นเป็นของใคร จึงพากันไปหามโหสถ มโหสถถามชาย เจ้าของโคว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร ชายนั้นก็เล่าให้ฟัง มโหสถจึงถาม ขโมยว่า "ท่านให้โคของท่านกินอาหารอะไรบ้าง" ขโมยตอบว่า "ข้าพเจ้าให้กินงา กินแป้ง ถั่ว และยาคู" มโหสถถามชายเจ้าของโค ชายนั้นก็ตอบว่า"ข้าพเจ้าให้โคกิน หญ้าตามธรรมดา" มโหสถจึงให้ เอาใบไม้มาตำให้โคกินแล้วให้กินน้ำ โคก็สำรอกเอาหญ้าออกมา จึงเป็นอันทราบว่าใครเป็นเจ้าของโคที่แท้จริง พระเจ้าวิเทหราชได้ทราบเรื่องการตัดสินความของมโหสถก็ ปรารถนาจะเชิญมโหสถาสู่ราชสำนัก แต่บัณฑิตทั้งสี่ก็คอยทูล ทัดทานไว้เรื่อยๆ

   ทุกครั้งที่มโหสถแสดงสติปัญญาในการตัดสินคดี พระเจ้าวิเทหราชทรงทดลองสติปัญญามโหสถด้วยการตั้งปัญหา ต่างๆก็ปรากฏว่า มโหสถแก้ปัญหาได้ทุกครั้ง เช่น เรื่องท่อนไม้ ที่เกลาได้เรียบเสมอกัน พระเจ้าวิเทหราชทรงตั้งคำถามว่า ข้างไหนเป็นข้าง ปลายข้างไหนเป็นข้างโคน มโหสถก็ใช้วิธีผูกเชือก กลางท่อนไม้นั้น แล้วหย่อนลงในน้ำ ทางโคนหนักก็จมลง ส่วนทาง ปลายลอยน้ำ เพราะน้ำหนักเบากว่าไม้ มโหสถก็ชี้ได้ว่า ทางไหน เป็นโคนทางไหนเป็นปลาย นอกจากนี้มโหสถยังแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ อีกเป็นอันมาก จนในที่สุดพระราชาก็ไม่อาจทนรอตามคำ ทัดทานของ บัณฑิตทั้งสี่ อีกต่อไป จึงโปรดให้ราชบุรุษไปพาตัวมโหสถกับบิดามา เข้าเฝ้าพร้อมกับให้นำ ม้าอัสดรมาถวายด้วย

   มโหสถทราบดีว่าครั้งนี้ เป็นการทดลองสำคัญ จึงนัดหมายการอย่างหนึ่งกับบิดา และ ในวันที่ไปเฝ้าพระราชา มโหสถให้คนนำลามาด้วยหนึ่งตัว เมื่อเข้าไปถึงที่ประทับ พระราชาโปรดให้สิริวัฒกะเศรษฐีนั่งบนที่ อันสมควรแก่เกียรติยศ ครั้นเมื่อมโหสถเข้าไป สิริวัฒกะก็ลุกขึ้น เรียกบุตรชายว่า "พ่อมโหสถ มานั่งตรงนี้เถิด" แล้วก็ลุกขึ้นจากที่นั่ง มโหสถก็ตรงไปนั่งแทนที่บิดา ผู้คนก็พากันมองดูอย่างตำหนิ ที่มโหสถทำเสมือนไม่เคารพบิดา มโหสถจึง ถามพระราชาว่า "พระองค์ไม่พอพระทัยที่ข้าพเจ้านั่งแทนที่บิดาใช่หรือไม่" พระราชาทรงรับคำ มโหสถ จึงถามว่า " ข้าพเจ้าขอทูลถามว่า ธรรมดาบิดาย่อมดีกว่าบุตร สำคัญกว่าบุตรเสมอไปหรือ" พระราชา ตรัสว่า "ย่อมเป็นอย่างนั้น บิดาย่อมสำคัญกว่าบุตร" มโหสถทูลต่อว่า "เมื่อข้าพเจ้ามาเฝ้า พระองค์มีพระกระแส รับสั่งว่าให้ข้าพเจ้านำม้าอัสดรมาถวายด้วย ใช่ไหมพระเจ้าค่ะ" พระราชาทรงรับคำ มโหสถจึงให้คนนำลาที่เตรียมเข้ามา ต่อพระพักตร์ แล้วทูลว่า "เมื่อพระองค์ตรัสว่าบิดาย่อมสำคัญ กว่าบุตร ลาตัวนี้เป็นพ่อของม้าอัสดร หากพระองค์ทรงเห็น เช่นนั้นจริง ็โปรดทรงรับลานี้ไปแทนม้าอัสดรเถิดพระเจ้าค่ะ เพราะม้าอัสดรเกิดจากลานี้ แต่ถ้าทรงเห็นว่า บุตรอาจดีกว่าบิดา ก็ทรงรับเอาม้าอัสดรไปตามที่ทรงมีพระราชประสงค์ ถ้าหากพระองค์เห็นว่าบิดาย่อมประเสริฐกว่าบุตรก็ทรงโปรด รับเอาบิดาของข้าพเจ้าไว้ แต่หากทรงเห็นว่าบุตรอาจประเสริฐ กว่าบิดา ก็ขอให้ทรงรับข้าพเจ้าไว้" การที่มโหสถกราบทูลเช่นนั้น มิใช่จะลบหลู่ดูหมิ่นบิดา แต่เพราะ ประสงค์จะให้ผู้คนทั้งหลายตระหนักใน ความเป็นจริงของโลก และเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีผู้จงใจผูกขึ้น คือบัณฑิตทั้งสี่นั้นเอง พระราชาทรงพอพระทัยในปัญญาของมโหสถจึงตรัสแก่ สิริวัฒกะเศรษฐีว่า "ท่านเศรษฐี เราขอมโหสถไว้ เป็นราชบุตร จะขัดข้องหรือไม่" เศรษฐีทูลตอบว่า "ข้าแต่พระองค์ มโหสถยังเด็กนัก อายุ เพิ่ง 7 ขวบ เอาไว้ให้โตเป็นผู้ใหญ่ก่อนน่าจะดีกว่าพระเจ้าค่ะ" พระราชาตรัสตอบว่า "ท่านอย่าวิตกในข้อที่ว่ามโหสถยังอายุ น้อยเลย มโหสถเป็นผู้มี ปัญญาเฉียบแหลมยิ่งกว่าผู้ใหญ่ จำนวนมาก เราจะเลี้ยงมโหสถในฐานะราชบุตรของเรา ท่านอย่ากังวล ไปเลย"

   มโหสถจึงได้เริ่มรับราชการกับ พระเจ้าวิเทหราชนับตั้งแต่นั้นมา ตลอดเวลาที่อยู่ในราชสำนัก มโหสถได้แสดงสติปัญญา และความสุขุมลึกซึ้งในการพิจารณาแก้ไขปัญหา ข้อขัดข้อง ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่พระราชาทรงผูกขึ้นลองปัญญา มโหสถ หรือที่บัณฑิตทั้งสี่พยายาม สร้างขึ้นเพื่อให้มโหสถ อับจนปัญญา แต่มโหสถก็แก้ปัญหาเหล่านั้นได้ทุกครั้งไป มิหนำซ้ำในบางครั้ง มโหสถยังได้ช่วยให้บัณฑิตทั้งสี่นั้น รอดพ้นความอับจน แต่บัณฑิตเหล่านั้นมิได้กตัญญูรู้คุณ ที่มโหสถกระทำแก่ตน กลับพยายามทำให้พระราชาเข้า พระทัยว่ามโหสถด้อยปัญญา พยายามหาหนทางให้พระราชา ทรงรังเกียจมโหสถ เพื่อที่ตนจะได้รุ่งเรืองในราชสำนัก เหมือนสมัยก่อน มโหสถรุ่งเรืองอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าวิเทหราช ได้รับการ สรรเสริญจากผู้คนทั้งหลายจนมีอายุได้ 16 ปี พระมเหสีของ พระราชาผู้ทรงรักใคร่มโหสถเหมือนเป็นน้องชาย ทรงประสงค์ จะหาคู่ครองให้ แต่มโหสถขอพระราชทานอนุญาตเดินทาง ไปเสาะหาคู่ครองที่ตนพอใจด้วยตนเอง พระมเหสีก็ทรงอนุญาต

   มโหสถเดินทางไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้พบหญิงสาวคนหนึ่ง เป็นลูกสาวเศรษฐีเก่าแก่ แต่ได้ยากจนลง หญิงสาวนั้นชื่อว่าอมร มโหสถปลอมตัวเป็นช่างชุนผ้า ไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาของนาง และได้ทดลอง สติปัญญาของนางด้วยประการต่างๆเป็นต้นว่า ในครั้งแรกที่พบกันนั้น มโหสถถามนางว่า "เธอชื่ออะไร" นางตอบว่า "สิ่งที่ดิฉันไม่มีอยู่ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต นั่นแหล่ะ เป็นชื่อ ของดิฉัน" มโหสถ พิจารณาอยู่ครู่หนึ่งก็ตอบว่า "ความไม่ตายเป็นสิ่ง ไม่มีอยู่ในโลก เธอชื่อ อมร ( ไม่ตาย ) ใช่ไหม " หญิงสาวตอบว่า ใช่ มโหสถถามต่อว่า นางจะนำข้าวไปให้ใคร นางตอบว่า นำไป ให้บุรพเทวดา มโหสถก็ ตีปริศนาออกว่า บุรพเทวดาคือเทวดา ที่มีก่อนองค์อื่นๆ ได้แก่ บิดา มารดา เมื่อมโหสถได้ทดลองสติปัญญาและความประพฤติต่างๆของ นางอมรจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงขอนางจาก บิดา มารดา พากลับ ไปกรุงมิถิลา เมื่อไปถึงยังเมือง ก็ยังได้ทดลองใจนางอีกโดย มโหสถแสร้งล่วงหน้าไปก่อน แล้วแต่งกายงดงามรออยู่ในบ้าน ให้คนพานางมาพบ กล่าวเกี้ยวพาราสีนาง นางก็ไม่ยินดีด้วย มโหสถจึงพอใจนาง จึงพาไปเฝ้าพระราชาและพระมเหสี พระราชาก็โปรดให้มโหสถแต่งงานอยู่กินกับ นางอมรต่อมา บัณฑิตทั้งสี่ยังพยายามที่จะกลั่นแกล้งมโหสถด้วยประการ ต่างๆ แต่ก็ไม่เป็นผล แม้ถึงขนาดพระราชาหลงเข้าพระทัยผิด ขับไล่มโหสถออกจากวัง มโหสถก็มิได้ขุ่นเคือง แต่ยังจงรักภักดี ต่อพระราชา พระราชาจึงตรัสถามมโหสถว่า "เจ้าเป็นผู้มีสติปัญญา หลักแหลมยิ่ง หากจะหวังช่วงชิงราชสมบัติจากเราก็ย่อมได้ เหตุใดจึงไม่คิดการร้ายต่อเรา" มโหสถทูลตอบว่า "บัณฑิตย่อม ไม่ทำชั่ว เพื่อให้ได้ความสุข สำหรับตน แม้จะถูกทับถมให้เสื่อมจาก ลาภยศ ก็ไม่คิดสละธรรมะด้วยความหลงในลาภยศ หรือด้วย ความรักความชัง บุคคลนั่งนอนอยู่ใต้ร่มไม้ ย่อมไม่ควรหัก กิ่งต้นไม้นั้น เพราะจะได้ชื่อว่าทำร้ายมิตร บุคคลที่ได้รับการ เกื้อหนุนอุปการะจากผู้ใด ย่อมไม่ทำให้ไมตรีนั้นเสียไปด้วย ความโง่เขลา หรือความ หลงในยศอำนาจ บุคคลผู้ครองเรือน หากเกียจคร้าน ก็ไม่งาม นักบวชไม่สำรวม ก็ไม่งาม พระราชา ขาดความพินิจพิจารณาก็ไม่งาม บัณฑิตโกรธง่าย ก็ไม่งาม" ไม่ว่าบัณฑิตทั้งสี่จะกลั่นแกล้งมโหสถอย่างใด มโหสถก็ สามารถเอาตัวรอดได้ทุกครั้ง และมิได้ตอบแทน ความชั่วร้าย ด้วยความชั่วร้าย แต่กลับให้ความเมตตากรุณาต่อบัณฑิต ทั้งสี่เสมอมา นอกจากจะทำหน้าที่พิจารณาเรื่องราว แก้ไขปัญหาต่างๆ มโหสถยังได้เตรียมการป้องกันพระนครใน ด้านต่างๆ ให้พร้อมเสมอด้วย และยังจัดผู้คนไปอยู่ตามเมืองต่างๆ เพื่อคอยสืบข่าวว่า จะมีบ้านเมืองใด มาโจมตีเมืองมิถิลาหรือไม่
   มีพระราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า จุลนีพรหมทัต ครองเมือง อุตรปัญจาล ประสงค์จะทำสงครามแผ่ เดชานุภาพ จึงทรงคิด การกับปุโรหิตชื่อ เกวัฏพราหมณ์ หมายจะลวงเอากษัตริย์ ร้อยเอ็ดพระนครมา กระทำสัตย์สาบานแล้วเอาสุราเจือยาพิษ ให้กษัตริย์เหล่านั้นดื่ม จะได้รวบรวมพระนครไว้ในกำมือ มโหสถ ได้ทราบความลับจากนกแก้วที่ส่งออกไปสืบข่าว จึงหาทางช่วย ชีวิตกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดไว้ได้ โดยที่ กษัตริย์เหล่านั้นหารู้ตัวไม่ พระเจ้าจุลนีทรงเห็นว่ามิถิลา เป็นเมืองเดียวที่ไม่ยอมทำ สัตย์สาบาน จึงยกทัพใหญ่มุ่งไปโจมตีมิถิลา มีเกวัฏพราหมณ์ เป็นที่ปรึกษาใหญ่ แต่ไม่ว่าจะโจมตีด้วยวิธีใด มโหสถ ก็รู้ทัน สามารถตอบโต้และแก้ไขได้ ทุกครั้งไป ในที่สุดพระเจ้าจุลนีทรงส่งเกวัฏพราหมณ์มาประลองปัญญา ทำสงครามธรรมกับมโหสถ มโหสถออกไป พบเกวัฏพราหมณ์ โดยนำเอาแก้วมณีค่าควรเมืองไปด้วย แสร้งบอกว่า จะยกให้ พราหมณ์ แต่เมื่อจะส่ง ให้ก็วางให้ที่ปลายมือพราหมณ์เกวัฏ เกรงว่าแก้วมณจะตกจึงก้มลงรับแต่ก็ไม่ทัน แก้วมณีตกลงไป กับพื้นเกวัฏก้มลงเก็บด้วยความโลภ มโหสถจึงกดคอเกวัฏไว้ ผลักให้กระเด็นไป แล้วให้ทหารร้องประกาศว่า เกวัฏปราหมณ ์ก้มลงไหว้มโหสถ แล้วถูกผลักไปด้วยความรังเกียจ บรรดาทหารของพระเจ้าจุลนีมองเห็นแต่ภาพเกวัฏพราหมณ์ ก้มลงแทบเท้า แต่ไม่ทราบว่าก้มลงด้วยเหตุใด ก็เชื่อตามที่ ทหารของมโหสถป่าวประกาศ พากันกลัวอำนาจมโหสถ ถอยหนีไปไม่เป็นกระบวน กองทัพพระเจ้าจุลนีก็แตกพ่ายไป
   เกวัฏพราหมณ์คิดพยาบาทมโหสถอยู่ไม่รู้หาย จึงวางอุบายให้ พระเจ้าจุลนีส่งทูตไปทูลพระเจ้าวิเทหราชว่าจะขอทำสัญญาไมตรี และขอถวายพระราชธิดาให้เป็นชายา พระเจ้าวิเทหราชทรงมี ความยินดี จึงทรงตอบรับเป็นไมตรี พระเจ้าจุลนีก็ขอให้ พระเจ้าวิเทหราชเสด็จมาอุตรปัญจาล มโหสถพยายาม ทูลคัดค้าน พระราชาก็มิได้ฟังคำ มโหสถก็เสียใจว่าพระราชา ลุ่มหลงในสตรี แต่กระนั้นก็ยังคงจงรักภักดี จึงคิดจะแก้อุบาย ของพระเจ้าจุลนี มโหสถจึงทูลขออนุญาตไปจัดเตรียมที่ประทับ ให้พระราชในเมืองอุตรปัญจาล ก็ได้รับอนุญาต มโหสถจึงให้ ผู้คนไปจัดสร้างวังอันงดงาม และที่สำคัญคือจัดสร้างอุโมงค์ใต้ดิน เป็นทาง เดินภายในอุโมงค์ประกอบด้วยกลไกและประตูลับ ต่างๆซับซ้อนมากมาย เมื่อเสร็จแล้วมโหสถจึงทูลเชิญ ให้พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปยังอุตรปัญจาล ขณะที่พระเจ้าวิเทหราชประทับอยู่ในวัง รอที่จะอภิเษกกับ พระธิดาพระเจ้าจุลนี พระเจ้าจุลนีทรงยก กองทหารมาล้อมวังไว้ มโหสถซึ่งเตรียมการไว้แล้ว ก็ลอบลงไปทางอุโมงค์เข้าไปใน ปราสาทพระเจ้าจุลนี ทำอุบายหลอกเอาพระชนนี พระมเหสี พระราชบุตร และราชธิดาพระเจ้าจุลนีมากักไว้ใต้วังที่สร้างขึ้น นั้นแล้วจึงกลังไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช พระเจ้าวิเทหราชตกพระทัยว่ากองทหารมาล้อมวัง ตรัสปรึกษา มโหสถ มโหสถจึงทูลเตือนพระราชาว่า "ข้าพระองค์ได้กราบทูล ห้าม มิให้ทรงประมาท แต่ก็มิได้ทรงเชื่อ พระราชบิดาพระเจ้าจุลนี นั้น ประดุจเหยื่อที่นำมาตกปลา การทำไมตรีกับผู้ไม่มีศีลธรรม ย่อมนำความทุกข์มาให้ ธรรมดาบุคคลผู้มี ปัญญา ไม่พึงทำ ไมตรีสมาคมกับบุคคลผู้ไม่มีศีล ซึ่งเปรียบเสมือนงู ไว้วางใจ มิได้ย่อมนำความเดือดร้อน มาสู่ไมตรีนั้น ไม่มีทางสำเร็จผลได้" พระเจ้าวิเทหราชทรงเสียพระทัยที่ไม่ทรงเชื่อคำทัดทาน ของมโหสถแต่แรก มโหสถจัดการนำพระเจ้า วิเทหราช ไปพบพระชนนี พระมเหสี และพระโอรสธิดาของพระเจ้าจุลนี ที่ตนนำมาไว้ในอุโมงค์ใต้ดิน แล้วจัดการให้กองทัพที่เตรียมไว้ นำเสด็จกษัตริย์ทั้งหลายกลับไปมิถิลา ส่วนตัวมโหสถเองอยู่ เผชิญหน้า กับพระเจ้าจุลนี เมื่อพระเจ้าจุลนีเสด็จมา ประกาศว่าจะจับพระเจ้าวิเทหราช มโหสถจึงบอกให้ทรงทราบว่า พระเจ้าวิเทหราช มโหสถจึงบอก ให้ทรงทราบว่า พระเจ้าวิเทหราชเสด็จกลับมิถิลาแล้วพร้อมด้วย พระราชวงศ์ ของพระเจ้าจุลนี พระราชาก็ทรงตกพระทัย เกรงว่าพระญาติวงศ์จะเป็นอันตราย มโหสถจึงทูลว่า ไม่มีผู้ใด จะทำอันตราย แล้วจึงทูลเชิญพระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรวังและ อุโมงค์ที่จัดเตรียมไว้อย่างวิจิตรงดงาม ขณะที่พระเจ้าจุลนีกำลัง ทรงเพลิดเพลิน มโหสถก็ปิดประตูกลทั้งปวง และหยิบดาบที่ซ่อนไว้ ทำทีว่าจะ ตัดพระเศียรพระราชา พระราชาตกพระทัยกลัว มโหสถจึงทูลว่า "ข้าพระองค์จะไม่ทำร้ายพระราชา แต่หากจะฆ่า ข้าพระองค์เพราะแค้นพระทัย ข้าพระองค์ก็จะถวายดาบนี้ให้"

    พระราชาเห็นมโหสถส่งดาบถวาย ก็ทรงได้สติ เห็นว่ามโหสถ นอกจากจะประกอบด้วยความสติปัญญาประเสริฐแล้ว ยังเป็น ผู้ไม่มีจิตใจมุ่งร้ายพยาบาทผู้ใด พระเจ้าจุลนีจึงตรัสขออภัยที่ ได้เคยคิดร้ายต่อเมืองมิถิลา ต่อพระเจ้าวิเทหราช และต่อมโหสถ มโหสถจึงทูลลากลับไปมิถิลา จัดให้กองทหารนำเสด็จพระชนนี พระมเหสี และ พระราชบุตร ของพระเจ้าจุลนีกลับมายัง อุตรปัญจาล ส่วนราชธิดานั้นคงประทับอยู่มิถิลา ในฐานะ พระชายาพระเจ้า วิเทหราชต่อไป พระเจ้าจุลนีทรงตรัสขอให้มโหสถมาอยู่กับพระองค์ มโหสถ ทูลว่า "ข้าพระองค์รับราชการรุ่งเรืองในราช สำนักของพระเจ้า วิเทหราช ผู้เป็นเจ้านายของข้าพระองค์แต่เดิม ไม่อาจจะไปอยู่ที่ อื่นได้หากเมื่อใด พระเจ้าวิเทหราชสวรรคต ข้าพระองค์จะไป อยู่เมืองอุตรปัญจกาล รับราชการอยู่ในราชสำนัก ของ พระองค์" เมื่อพระเจ้าวิเทหราชสิ้นพระชนม์ มโหสถก็ทำตามที่ ลั่นวาจาไว้ คือไปรับราชการอยู่กับพระเจ้าจุลนี และยังถูก กลั่นแกล้งจากเกวัฏพราหมณ์คู่ปรับเก่า แต่มโหสถก็ เอาตัวรอดได้ทุกครั้ง มโหสถนอกจากจะมีสติปัญญา เฉลียวฉลาดแล้ว ยังประกอบด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ มีความสุขุมรอบคอบ มิได้หลงใหล ในลาภยศสรรเสริญ ดังนั้นมโหสถจึงได้รับยกย่องสรรเสริญว่าเป็น บัณฑิตผู้มี ความรู้อันลึกซึ้ง มีสติ ปัญญานั้นประกอบด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ ที่กำกับให้ผู้มีสติปัญญาประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควร

ปัญญาอันล้ำเลิศนั้นย่อมทำคุณให้แก่บุคคล ยิ่งกว่ามีทรัพย์นับแสน แม้มิมีปัญญาดั่งปราชญ์ แต่ถ้าเป็นผู้รู้จักคิดให้รอบคอบก่อน ก็ย่อมเป็นผู้มีปัญญาและประพฤติชอบแล้ว
http://www.dhammathai.org/chadok/legend05.php



๔. เ น มิ ร า ช ช า ด ก

ระราชาแห่งเมืองมิถิลา ทรงมีพระโอรสนามว่า เนมิกุมาร ผู้จะทรงสืบสมบัติในกรุงมิถิลาต่อไป พระเนมิกุมาร ทรงมีพระทัยฝักใฝ่ในการบำเพ็ญทานมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงรักษาศีลอุโบสถ อย่างเคร่งครัด เมื่อพระบิดาทอดพระเนตรเห็นเส้นพระเกศาหงอก ก็ทรงรำพึงว่า บัดนี้ถึงเวลาที่จะมอบราชสมบัติให้ แก่โอรสแล้ว พระองค์เองก็จะได้เสด็จออกบำเพ็ญเพียรในทางธรรมต่อไป จึงทรงมอบราชสมบัติเมือง มิถิลาให้แก่พระเนมิราชกุมาร ขึ้นครองเป็นพระเจ้าเนมิราช ส่วนพระองค์เองก็เสด็จออกบวช รักษาศีลตราบจนสวรรคต

   เมื่อพระเจ้าเนมิราชครองราชสมบัติ โปรดให้สร้างโรงทาน ริมประตูเมือง 4 แห่ง โรงทานกลางพระนคร 1 แห่ง ทรงบริจาคทานแก่ประชาชนอยู่เป็นนิตย์ ทรงรักษาศีล และสั่งสอนประชาชนของพระองค์ให้ตั้ง มั่นอยู่ในศีลในธรรม ครั้งนั้นปรากฏว่าประชาชนทั้งหลายล้วนแต่เป็นผู้มีศีลมีสัตย์ ไม่มีการเบียดเบียนทำ บาปหยาบช้า บ้านเมืองก็ร่มเย็นเป็นสุข ผู้คนพากันสรรเสริญพระคุณของพระเจ้าเนมิราชอยู่ทั่วไป พระเจ้าเนมิราช เมื่อทรงปฏิบัติธรรมอยู่นั้น ทรงสงสัยว่า การให้ทานกับการประพฤติพรหมจารย์ คือ การรักษาความบริสุทธิ์ ไม่ข้องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวโลกนั้น อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน พระอินทร์ได้ทรงทราบถึงความกังขาในพระทัยของพระเจ้า เนมิราช จึงเสด็จจากดาวดึงส์ลงมาปรากฏ เฉพาะพระพักตร์ พระราชา ตรัสกับพระราชาว่า "หม่อมฉันมาเพื่อแก้ข้อสงสัย ที่ทรงมีพระประสงค์จะทราบว่าระหว่างทานกับการประพฤติ พรหมจรรย์ สิ่งใดจะเป็นกุศลยิ่งกว่ากัน หม่อมฉันขอทูลให้ ทราบว่า บุคคลได้เกิดในตระกูลกษัตริย์นั้นก็เพราะประพฤติ พรหมจรรย์ในขั้นต่ำ บุคคลได้เกิดในเทวโลก เพราะได้ประพฤติ พรหมจรรย์ขั้นกลาง บุคคลจะถึงความบริสุทธิ์ ก็เพราะประพฤติ พรหมจรรย์ขั้นสูงสุด การเป็นพรหมนั้น เป็นได้ยากลำบากยิ่ง ผู้จะประพฤติพรหมจรรย์ จะต้องเว้นจากวิถีชีวิตอย่างมนุษย์ ปุถุชน ต้องไม่มีเหย้าเรือน ต้องบำเพ็ญธรรมสม่ำเสมอ ดังนั้น การประพฤติพรหมจรรย์จึงทำได้ยากยิ่ง กว่าการบริจาคทาน และได้กุศลมากยิ่งกว่าหลายเท่านัก บรรดากษัตริย์ทั้งหลาย มักบริจาคทานกันเป็น การใหญ่แต่ก็ไม่ สามารถจะล่วงพ้น จากกิเลสไปได้ แม้จะได้ไปเกิดในที่อันมีแต่ความสนุก ความบันเทิงรื่นรมย์ แต่ก็เปรียบไม่ได้กับความสุขอันเกิดจาก ความสงบอันวิเวก อันจะได้มาก็ด้วยการประพฤติ พรหมจรรย์เท่านั้น" พระอินทร์ได้ทรงเล่าถึงเรื่องราวของพระองค์เอง ที่ได้ประกอบทานอันยิ่งใหญ่ เมื่อชาติที่เกิดเป็นพระราชา แห่งพาราณสี ได้ทรงถวายอาหารแก่นักพรตที่อยู่ บริเวณแม่น้ำสีทา เป็นจำนวนหมื่นรูปได้รับกุศลยิ่งใหญ่ แต่ก็เพียงแต่ได้เกิดในเทวโลกเท่านั้น ส่วนบรรดานักพรต ที่ประพฤติพรหมจรรย์เหล่านั้น ล้วนได้ไปเกิดในพรหมโลก อันเป็นแดนที่สูงกว่าและมีความสุขสงบอันบริบูรณ์กว่า แต่แม้ว่าพรหมจรรย์จะ ประเสริฐกว่าทาน พระอินทร์ก็ได้ ทรงเตือนให้พระเจ้าเนมิราชทรงรักษาธรรมทั้งสองคู่กันคือ บริจาค ทานและรักษาศีล

   ครั้นเมื่อพระอินทร์เสด็จกลับไปเทวโลกแล้วเหล่าเทวดา ซึ่งครั้งที่เกิดเป็นมนุษย์นั้นได้เคยรับทานและฟังธรรมจาก พระเจ้าเนมิราช จนได้มาบังเกิดในเทวโลก ต่างพากัน ไปเฝ้าพระอินทร์และทูลว่า "พระเจ้าเนมิราชทรงเป็น อาจารย์ของเหล่าข้าพระบาทมาแต่ก่อน ข้าพระบาท ทั้งหลายรำลึกถึงพระคุณพระเจ้า เนมิราช ใคร่จะได้พบ พระองค์ขอได้โปรดเชิญเสด็จพระเจ้าเนมิราชมา ยังเทวโลกนี้ด้วยเถิด" พระอินทร์จึงมีเทวบัญชาให้มาตุลี เทพสารถีนำเวชยันตราชรถ ไปเชิญเสด็จพระเจ้าเนมิราช จากกรุง มิถิลาขึ้นมายังเทวโลก มาตุลีเทวบุตรรับโองการแล้วก็นำราชรถไปยังมนุษยโบก ในคืนวันเพ็ญ ขณะพระเจ้าเนมิราชกำลัง ประทับอยู่กับ เหล่าเสนาอำมาตย์ มาตุลีทูลเชิญพระราชาว่า เทพบนสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์รำลึกถึงพระคุณ ของพระองค์ ปรารถนาจะได้พบ พระองค์ จึงนำราชรถมาเชิญเสด็จไปยังเทวโลก พระเจ้าเนมิราชทรงรำพึงว่า พระองค์ยังมิเคยเห็นเทวโลก ปรารถนาจะเสด็จไปตามคำเชิญของเหล่าเทพ จึงเสด็จประทับ บนเวชยันตราชรถ มาตุลีจึงทูลว่า สถานที่ที่จะเชิญเสด็จไปนั้น มี 2 ทาง คือ ไปทางที่ อยู่ของเหล่าผู้ทำบาปหนึ่ง และไปทางสถานที่ อยู่ของผู้ทำบุญหนึ่ง พระราชาประสงค์จะเสด็จไปที่ใดก่อนก็ได้ พระราชาตรัสว่า พระองค์ประสงค์จะไปยังสถานที่ของ เหล่าผู้ทำบาปก่อน แล้วจึงไปยังที่แห่งผู้ทำบุญ มาตุลีก็นำเสด็จ ไปยังเมืองนรก ผ่านแม่น้ำเวตรณี อันเป็นที่ทรมาณสัตว์นรก แม่น้ำเต็มไปด้วยเถาวัลย์ หนามโตเท่าหอก มีเพลิงลุกโชติช่วง มีหลาวเหล็กเสียบสัตว์นรกไว้เหมือนอย่างปลา เมื่อสัตว์นรกตก ลงไปในน้ำก็ถูกของแหลมคมใต้น้ำสับขาดเป็นท่อนๆ บางที นายนิรยบาลก็เอาเบ็ดเหล็กเกี่ยวสัตว์นรก ขึ้นมาจากน้ำ เอามา นอนหงายอยู่บนเปลวไฟบ้าง เอาก้อนเหล็กมีไฟลุกแดงอุดเข้าไป ในปากบ้าง สัตว์นรกล้วนต้องทนทุกขเวทนาด้วยอาการต่างๆ

   พระราชาตรัสถามถึงโทษของเหล่าสัตว์นรกเหล่านี้ ว่าได้ประกอบกรรมชั่วอะไรไว้จึงต้องมารับโทษดังนี้ มาตุลีก็ตอบบรรยายถึงโทษกรรมที่สัตว์นรกเหล่านี้ ประกอบไว้ เมื่อครั้งที่เกิดเป็นมนุษย์ จากนั้น มาตุลีก็พาพระราชาไปทอดพระเนตรขุมนรกต่างๆ ที่มีบรรดาสัตว์นรกถูกจองจำและลงโทษ อยู่ด้วยความทรมาณ แสนสาหัส น่าทุเรศเวทนาต่างๆ เป็นที่น่าสะพรึงกลังอย่างยิ่ง พระราชาตรัสถามถึง โทษของสัตว์นรกแต่ละประเภท มาตุลีก็ตอบ โดยละเอียด เช่น ผู้ที่เคยทรมาณไล่จับไล่ยิงนกขว้างนก จะถูกนาย นิรยบาลเอาเหล็กพืดรัดคอ กดหัว แล้วดึงเหล็กนั้นจนคอขาด ผู้ที่เคยเป็นพ่อค้าแม่ค้า แล้วไม่ซื่อต่อคนซื้อ เอาของเลวมาหลอก ว่าเป็นของดี หรือเอาของเลวมาปนของดี ก็จะถูกลงโทษให้เกิด ความกระหายน้ำ ครั้นเมื่อไปถึงน้ำ น้ำนั้นก็กลายเป็นแกลบเพลิง ลุกเป็นไฟ ก็จำต้องกินแกลบนั้นต่างน้ำ เมื่อกินเข้าไปแกลบน้ำ ก็แผดเผาร่างกายได้รับทุกขเวทนาสาหัส ผู้ที่เคยทำความเดือดร้อนให้มิตรสหายอยู่เป็นนิตย์ รบกวน เบียดเบียนมิตรสหายด้วยประการต่างๆ เมื่อ ตายไปเกิดใน ขุมนรกก็จะรู้สึกหิวกระหายปรารถนาจะกินอาหาร แต่อาหารที่ได้พบ ก็คืออุจจาระปัสสาวะ สัตว์นรกเหล่านี้จำต้องดื่มกินต่างอาหาร ผู้ที่ฆ่าบิดามารดา ฆ่าผู้มีพระคุณ ฆ่าผู้มีศีลธรรม จะถูกไฟนรกแผดเผาให้กระหายต้องดื่มเลือดดื่มหนอง แทนอาหาร ความทุกข์ทรมาณอันสาหัสในขุมนรกต่างๆ มีอยู่มากมาย เป็นที่น่าทุเรศเวทนา ทำให้พระราชารู้สึกสยดสยอง ต่อผลแห่งกรรมชั่วร้าย ของมนุษย์ใจบาปหยาบช้าทั้งหลายยิ่งนัก พระราชาทอดพระเนตรเห็นวิมารแก้วของนางเทพธิดาวารุณี ประดับด้วยแก้วแพรวพรายมีสระน้ำ มีสวนอันงดงาม ด้วยดอกไม้นานาพรรณ จึงตรัสถามมาตุลีว่า นางเทพธิดา วารุณีประกอบกรรมดีอย่างใดไว้ จึงได้มีวิมานที่งดงามวิจิตรเช่นนี้ มาตุลีตอบว่า นางเทพธิดาองค์นี้ เมื่อเป็นมนุษย์ เป็นสาวใช้ของ พราหมณ์ มีหน้าที่จัดอาสนะสำหรับภิกษุ และจักสลากภัตถวายภิกษุ อยู่เนืองๆ นางบริจาคทาน และ รักษาศีลตลอดเวลา

   ผลแห่งกรรมดีของนางจึงได้บังเกิดวิมานแก้วงามเรืองรอง พระราชาเสด็จผ่านวิมานต่างๆ อันงดงามโอฬารและ ได้ตรัสถามเทวสารถี ถึงผลบุญที่เหล่าเทพบุตร เทพธิดาเจ้าของ วิมานเหล่านั้น ได้เคยประกอบไว้ เมื่อครั้งที่เกิดเป็นมนุษย์ มาตุลีก็ทูลให้ทราบโดยละเอียด ความงามและความรื่นรมย์ ในเทวโลกเป็นที่จับตาจับใจของพระราชาเนมิราชยิ่งนัก ในที่สุด มาตุลีก็นำเสด็จพระราชาไปถึงวิมานที่ประทับ ของพระอินทร์ เหล่าเทพยดาทั้งหลายมีความ โสมนัสยินดีที่ได้พบ พระราชาผู้เคยทรงมีพระคุณต่อเทพยดาเหล่านั้น ตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็น มนุษย์อยู่ในมนุษยโลก เหล่าเทพได้ทูลเชิญให้พระราชา ประทับอยู่ ในวิมานของตน เพื่อเสวยทิพย์สมบัติอันรื่นรมย์ ในดาวดึงส์ พระราชาตรัสตอบว่า "สิ่งที่ได้มาเพราะผู้อื่น ไม่เป็นสิทธิขาดแก่ตน หม่อมฉันปรารถนาจะประกอบกรรมดี เพื่อให้ได้รับผลบุญตามสิทธิ อันควรแก่ตนเอง หม่อมฉันจะตั้งหน้าบริจาคทาน รักษา ศีล สำรวม กาย วาจา ใจ เพื่อให้ได้รับผลแห่งกรรมดี เป็นสิทธิของหม่อมฉันโดยแท้จริง" พระราชาประทับอยู่ในดาวดึงส์ชั่วเวลาหนึ่ง แล้วจึงเสด็จกลับ เมืองมิถิลา ได้ตรัสเล่าสิ่งที่ได้พบเห็นมา แก่ปวงราษฎร ทั้งสิ่งที่ได้เห็นในนรกและสวรรค์ แล้วตรัสชักชวนให้ประชาชนทั้งหลาย ตั้งใจมั่น ประกอบกรรมดี บริจาคทาน รักษาศีล เพื่อให้ได้ไปเกิด ในเทวโลก ได้รับความสุขสบายรื่นรมย์ในทิพยวิมาน พระราชาเนมิราชทรงครองแผ่นดินสืบต่อมาด้วยความเป็นธรรม ทรงตั้งพระทัยรักษาศีลและบริจาค ทานโดยสม่ำเสมอมิได้ขาด วันหนึ่งเมื่อทอดพระเนตรเห็นเส้นพระเกศาหงอกขาวก็สลดพระทัยใน สังขาร ทรงดำริที่จะออกบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ จึงตรัสเรียก พระโอรสมาเฝ้าและทรงมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรส หลังจากนั้น พระราชาเนมิราชก็ออกผนวช เจริญพรหมวิหาร ได้สำเร็จบรรลุธรรม ครั้นเมื่อสวรรคตก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติอันรื่นรมย์ กุศลกรรมที่พระราชาทรงประกอบ อันส่งผลให้พระองค์ได้ไปสู่เทวโลกนั้นคือ การพิจารณาเห็นโทษ ของความชั่ว และความสยดสยองต่อผลแห่งกรรมชั่วนั้น และ อานิสงส์ของกรรมดีที่ส่งผลให้บุคคลได้เสวยสุขในทิพยสมบัติ อานิสงส์อันประเสริฐที่สุด คือ อานิสงส์แห่งการประพฤติ พรหมจรรย์คือการบวชเมื่อถึงกาลอันสมควร

การหมั่นรักษาความดีประพฤติชอบโดยตั้งใจ โดยมุ่งมั่น หากทำความดีแล้วย่อมได้ดี ประพฤติชั่วย่อมได้ผลชั่วตอบแทน นี้เป็นเรื่องที่สมควรยึดมั่นโดยแท้"
http://www.dhammathai.org/chadok/legend04.php

๓. สุ ว ร ร ณ ส า ม ช า ด ก - ( พระสุวรรณสาม )

ครั้งหนึ่ง มีสหายสองคนรักใคร่กันมาก ต่างก็ตั้งบ้านเรือน อยู่ใกล้เคียงกัน ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ ทั้งสองคนตั้งใจว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งมีลูกสาว อีกฝ่ายหนึ่งมีลูกชาย ก็จะให้แต่งงาน เพื่อครอบครัวทั้งสองฝ่ายจะได้ ผูกพันใกล้ชิดกันไม่มีเสื่อมคลาย อยู่ต่อมาฝ่ายหนึ่งก็มีลูกชายชื่อว่า ทุกูลกุมาร อีกฝ่ายหนึ่งมีลูกสาว ชื่อว่า ปาริกากุมารี เด็กทั้งสองมีรูป ร่างหน่าตางดงาม สติปัญญาฉลาดเฉลียว และมีจิตใจมั่นอยู่ในศีล เมื่อเติบโตขึ้น พ่อแม่ของทั้งสองก็ตกลงจะทำตามที่เคย ตั้งใจไว้ คือให้ลูกของทั้งสองบ้านได้แต่งงานกัน แต่ทั้งทุกูลกุมารและปาริกากุมารี ต่างบอกกับพ่อแม่ ของตนว่า ไม่ต้องการแต่งงานกัน แม้จะรู้ดีว่า ฝ่ายหนึ่ง เป็นคนดี รูปร่างหน้าตางดงาม และเป็นเพื่อนสนิท มาตั้งแต่เด็กก็ตาม ในที่สุด พ่อแม่ของทั้งสองก็จัดการแต่งงานให้จนได้ แต่แม้ว่าทุกูลและปาริกาจะแต่งงานกันแล้ว ต่างยังคงประพฤติ ปฏิบัติเสมือนเป็นเพื่อนกันตลอดมา ไม่เคยประพฤติต่อกัน ฉันสามีภรรยา ยิ่งไปกว่านั้นทั้ง สองคนมีความปราถนาตรงกัน คือประสงค์จะออกบวช ไม่อยากดำเนินชีวิตอย่างชาวบ้าน ธรรมดาซึ่ง จะต้องพัวพันอยู่กับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เพื่อเป็นอาหารบ้าง เพื่อป้องกันตัวเองบ้าง

   เมื่อได้อ้อนวอนพ่อแม่ทั้งสองบ้านอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุด ทั้งสองก็ได้รับคำอนุญาตให้บวชได้ จึงพากัน เดินทางไปสู่ป่าใหญ่ และอธิษฐานออกบวช นุ่งห่มผ้าย้อม เปลือกไม้และไว้มวยผมอย่างดาบส บำเพ็ญ ธรรมอยู่ ณ ศาลาในป่านั้น ด้วยความเมตตาอันมั่นคง ของทั้งสองคน บรรดาสิงสาราสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ต่างก็มีเมตตาจิตต่อกัน ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน ต่างหากินอยู่ด้วยความสุขสำราญ ต่อมาวันหนึ่ง พระอินทร์เล็งเห็นอันตรายซึ่งจะบังเกิดแก่ ทุกูลดาบสและปาริกาดาบสินี จึงตรัสบอกแก่ ดาบสว่า "ข้าพเจ้าเล็งเห็นว่า อันตรายจะเกิดขึ้นแก่ท่าน ขอให้ท่านจงมีบุตร เพื่อเป็น ผู้ช่วยเหลือ ปรนนิบัติในยามยากลำบากเถิด" ทุกูลดาบสจึงถามว่า "อาตมาบำเพ็ญพรตเพื่อความพ้นทุกข์ อาตมาจะมีบุตรได้อย่างไร อาตมาไม่ต้องการดำเนินชีวิต อย่างชาวโลก ที่จะทำให้ต้องวนเวียนอยู่ในความทุกข์อีก" พระอินทร์ตรัสว่า "ท่านไม่จำเป็นต้องประพฤติปฏิบัติ อย่างชาวโลก แต่ท่านจำเป็นต้องมีบุตรไว้ช่วย เหลือปรนนิบัติ ขอให้เชื่อข้าพเจ้าเถิด ท่านเพียงแต่เอามือลูบท้องนางปาริกา ดาบสินี นางก็จะตั้งครรภ์ ลูกในครรภ์นางจะได้เป็นผู้ดูแล ท่านทั้งสองต่อไป"

   เมื่อพระอินทร์ตรัสบอกดังนั้น ทุกูลดาบสจึงทำตาม ต่อมานางปาริกาก็ตั้งครรภ์ ครั้นครบกำหนด ก็คลอดบุตร มีผิวพรรณงดงามราวทองคำบริสุทธิ์ จึงได้ชื่อว่า "สุวรรณสาม" ปาริกาดาบสสินี เลี้ยงดู สุวรรณสามจนเติบใหญ่อยู่ในป่านั้น มีบรรดาสัตว์น้อยใหญ่นานาชนิดแวดล้อมเป็นเพื่อนเล่น ตั้งแต่ยังเป็นเด็กอยู่ สุวรรณสามหมั่นสังเกตจดจำสิ่งที่ พ่อและแม่ได้ปฏิบัติ เช่น การไปตักน้ำ ไปหา ผลไม้เป็นอาหาร เส้นทางที่ไปหาน้ำและอาหาร สุวรรณสามพยายามช่วยเหลือ พ่อและแม่ กระทำกิจกรรมต่างๆ เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้พ่อแม่ ได้มีเวลาบำเพ็ญธรรมตามที่ประสงค์ วันหนึ่ง เมื่อทุกูลดาบสและนางปาริกา ออกไปหาผลไม้ในป่า เผอิญฝนตกหนักทั้งสองจึงหลบฝนอยู่ที่ ต้นไม้ใหญ่ใกล้ จอมปลวก โดยไม่รู้ว่าที่จอมปลวกนั้นมีงูพิษอาศัยอยู่ น้ำฝนที่ชุ่มเสื้อฝ้า และมุ่นผมของ ทั้งสองไหลหยดลงไปในรูงู งูตกใจจึงพ่นพิษออกมาป้องกันตัว พิษร้ายของงูเข้าตาทั้งสองคน ความร้ายกาจของพิษทำให้ดวงตาบอดมืดมิดไปทันที ทุกูลดาบสและนางปาริกาดาบสินี จึงไม่สามารถจะกลับไปถึง ศาลาที่พักได้ เพราะมองไม่เห็นทาง ต้องวนเวียนคลำทางอยู่แถวนั้นเอง

   คนทั้งสองต้องเสียดวงตา เพราะกรรมในชาติก่อน เมื่อครั้งที่ ทุกูลดาบสเกิดเป็นหมอรักษาตา ปาริกา เกิดเป็นภรรยาของหมอนั้น วันหนึ่งหมอได้รักษาตาของเศรษฐีคนหนึ่งจนหายขาดแล้ว แต่เศรษฐีไม่ยอมจ่ายค่ารักษา ภรรยาจึงบอกกับสามีว่า "พี่จงทำยาขึ้นอย่างหนึ่งให้มีฤทธิ์แรง แล้วเอาไปให้เศรษฐีผู้นั้น บอกว่าตายังไม่หายสนิท ขอให้ใช้ยานี้ป้ายอีก" หมอตาทำตามที่ภรรยาบอก ฝ่ายเศรษฐีเชื่อในสรรพคุณยา ของหมอ ก็ทำตาม ตาของเศรษฐีก็กลับบอด สนิทในไม่ช้าด้วย บาปที่ทำไว้ในชาติก่อน ส่งผลให้ทั้งสองคนต้องตาบอดไปในชาตินี้ ฝ่ายสุวรรณสาม คอยพ่อแม่อยู่ที่ศาลา ไม่เห็นกลับมาตามเวลา จึงออกเดินตามหา ในที่สุดก็พบพ่อแม่ วนเวียนอยู่ข้างจอมปลวก เพราะนัยน์ตาบอด หาทางกลับไม่ได้ สุวรรณสามจึงถามว่า เกิดอะไรขึ้น เมื่อพ่อแม่เล่าให้ฟัง สุวรรณสามก็ร้องไห้ แล้วก็หัวเราะ พ่อแม่จึงถามว่าเหตุใดจึงร้องไห้แล้วก็หัวเราะ เช่นนั้น สุวรรณสาม ตอบว่า "ลูกร้องไห้เพราะเสียใจที่พ่อแม่นัยน์ตาบอด แต่หัวเราะ เพราะลูกดีใจที่ลูกจะได้ ปรนนิบัติดูแล ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ ที่เลี้ยงดูลูกมา พ่อแม่อย่าเป็นทุกข์ไปเลย ลูกจะปรนนิบัติ ไม่ให้พ่อแม่ต้องเดือดร้อนแต่อย่างใด" จากนั้น สุวรรณสามก็พาพ่อแม่กลับไปยังศาลาที่พัก จัดหาเชือก มาผูกโยงไว้โดยรอบ สำหรับพ่อแม่จะได้ใช้จับเป็นราวเดินไป ทำอะไรๆ ได้สะดวกในบริเวณศาลานั้นทุกๆ วัน สุวรรณสาม จะไปตักน้ำมา สำหรับพ่อแม่ได้ดื่มได้ใช้ และไปหา ผลไม้ในป่ามาเป็นอาหารและตนเอง

   เวลาที่สุวรรณสามออกป่าหาผลไม้ บรรดาสัตว์ทั้งหลาย จะพากันมาแวดล้อมด้วยความไว้วางใจ เพราะสุวรรณสาม เป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่เคยทำอันตรายแก่ฝูงสัตว์ สุวรรณสามจึงมีเพื่อนแวดล้อมเป็นบรรดา สัตว์นานาชนิด พ่อแม่ลูกทั้งสามจึงมีแต่ความสุขสงบ ปราศจาก ความทุกข์ร้อนวุ่นวายทั้งปวง อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาแห่งเมืองพาราณสี พระนามว่า "กบิลยักขราช" เป็นผู้ชอบออกป่าล่าสัตว์ พระองค์เสด็จออกล่าสัตว์ มาจนถึงท่าน้ำที่สุวรรณสามมาตักน้ำไปให้พ่อแม่ พระราชาสังเกตเห็น รอยเท้า สัตว์ชุกชุมในบริเวณนั้น จึงซุ่มคอยจะยิงสัตว์ที่ผ่านมากินน้ำ ขณะนั้น สุวรรณสามนำหม้อน้ำมาตักน้ำไปใช้ที่ศาลาดังเช่นเคย มีฝูงสัตว์เดินตามมาด้วยมากมาย พระราชาทอดพระเนตรเห็น ก็ทรงแปลกพระทัยว่า สุวรรณสามเป็นมนุษย์หรือเทวดา เหตุใดจึง เดินมา กับฝูงสัตว์ ครั้นจะเข้าไปถามก็เกรงว่าสุวรรณสาม จะตกใจหนีไป ก็จะไม่ได้ตัวจึงคิดจะยิงด้วยธนูให้หมด กำลังก่อนแล้วค่อยจับตัวไว้ซักถาม เมื่อสุวรรณสามลงไปตักน้ำแล้ว กำลังจะเดินกลับไปศาลา พระราชากบิลยักขราชก็เล็งยิงด้วยธนูอาบยา ถูกสุวรรณสาม ที่สำตัวทะลุจากขวาไปซ้าย สุวรรณสามล้มลงกับพื้น แต่ยังไม่ถึงตาย จึงเอ่ยขึ้นว่า "เนื้อของเรากินไม่ได้ หนังของเราเอาไปทำอะไรก็ไม่ได้ จะยิงเราทำไม คนที่ยิงเราเป็นใคร ยิงแล้วจะ ซ่อนตัวอยู่ทำไม" กบิลยักขราชได้ยินวาจาอ่อนหวานเช่นนั้นก็ยิ่งแปลกพระทัย ทรงคิดว่า "หนุ่มน้อยนี้เป็นใครหนอ ถูกเรายิงล้มลงแล้ว ยังไม่โกรธเคือง กลับใช้ถ้อยคำอันอ่อนหวาน แทนที่จะด่าว่า ด้วยความ โกรธแค้น เราจะต้องแสดงตัวให้เขาเห็น" คิดดังนั้นแล้ว พระราชาจึงออกจากที่ซุ่มไปประทับอยู่ข้างๆ สุวรรณสาม พลางตรัสว่า "เราชื่อกบิลยักขราช เป็นพระราชา แห่งแมืองพาราณสี เจ้าเป็นผู้ใด มาทำอะไรอยู่ในป่านี้" สุวรรณสามตอบไปตามความจริงว่า "ข้าพเจ้าเป็นบุตรดาบส ชื่อว่าสุวรรณสาม พระองค์ยิงข้าพเจ้าด้วยธนูพิษ ได้รับ ความเจ็บปวดสาหัส พระองค์ประสงค์อะไรจึงยิงข้าพเจ้า" พระราชาไม่กล้าตอบความจริง จึงแสร้งตรัสเท็จว่า "เราตั้งใจจะยิงเนื้อเป็นอาหาร แต่พอเจ้ามาเนื้อก็ เตลิดหนีไปหมด เราโกรธจึงยิงเจ้า " สุวรรณสามแย้งว่า "เหตุใดพระองค์จึงตรัสอย่างนั้น บรรดาสัตว์ทั้งหลายในป่านี้ไม่เคยกลัวข้าพเจ้า ไม่เคยเตลิด หนีข้าพเจ้าเลย สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนของข้าพเจ้า" พระราชาทรงละอายพระทัยที่ตรัสความเท็จแก่สุวรรณสาม ผู้ถูกยิงโดยปราศจากความผิด จึงตรัสตามความจริงว่า "เป็นความจริงตามที่เจ้าว่า สัตว์ทั้งหลายมิได้กลัวภัย จากเจ้าเลย เรายิงเจ้าก็เพราะความโง่เขลาของเราเอง เจ้าอยู่กับใครในป่านี้ ออกตักน้ำไปให้ใคร" สุวรรณสามบ้วนโลหิตออกจากปาก ตอบพระราชาว่า "ข้าพเจ้าอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งตาบอดทั้งสองคน อยู่ในศาลา ในป่านี้ ข้าพเจ้าทำหน้าที่ปรนนิบัติพ่อแม่ ดูแลหาน้ำและอาหาร สำหรับท่านทั้งสอง เมื่อข้าพเจ้า มาถูกยิงเช่นนี้ พ่อแม่ก็จะไม่มี ใครดูแลปรนนิบัติอีกต่อไป อาหารที่ศาลายังพอสำหรับ 6 วัน แต่ไม่มีน้ำ พ่อแม่ของข้าพเจ้าจะต้องอดน้ำและอาหาร เมื่อปราศจากข้าพเจ้า โอ พระราชา ความทุกข์ ความเจ็บปวด ที่เกิดจากถูกยิงด้วยธนูของท่านนั้น ยังไม่เท่าความทุกข์ ความเจ็บปวดที่เป็นห่วงพ่อแม่ของข้าพเจ้า จะต้องได้รับ ความเดือดร้อนเพราะขาดข้าพเจ้าผู้ปรนนิบัติ ต่อไปนี้พ่อแม่คงไม่ได้เห็นหน้าข้าพเจ้าอีก แล้ว" สุวรรณสามรำพันแล้วร้องไห้ด้วยความทุกข์ใจอย่างยิ่ง

   พระราชาทรงได้ยินดังนั้นก็เสียพระทัยยิ่งนักว่า ได้ทำร้าย สุวรรณสามผู้มีความกตัญญูสูงสุด ผู้ไม่เคยทำอันตราย ต่อสิ่งใดเลย จึงตรัสกับสุวรรณสามว่า "ท่านอย่ากังวลไปเลย สุวรรณสาม เราจะรับดูแลปรนนิบัติพ่อแม่ของท่านให้เหมือน กับที่ท่านได้เคย ทำมา จงบอกเราเถิดว่าพ่อแม่ของท่านอยู่ที่ไหน" สุวรรณสามได้ยินพระราชาตรัสให้สัญญาก็ดีใจ กราบทูลว่า "พ่อแม่ของข้าพเจ้าอยู่ไม่ไกลจากที่นี่มาก นัก ขอเชิญเสด็จไปเถิด" พระราชาตรัสถามว่า สุวรรณสามจะสั่งความไปถึงพ่อแม่ บ้างหรือไม่ สุวรรณสามจึงขอให้พระราชาบอกพ่อแม่ว่า ตนฝากกราบไหว้ลาพ่อแม่มากับพระราชา เมื่อสุวรรณสาม ประนมมือกราบลงแล้ว ก็สลบไป ด้วยธนูพิษ ลมหายใจหยุด มือเท้าและร่างกายแข็งเกร็งด้วยพิษยา พระราชาทรงเศร้า เสียพระทัยยิ่งนัก รำลึกถึงกรรมอันหนักที่ได้ก่อขึ้นในครั้งนี้ แล้วก็ทรงระลึกได้ว่า ทางเดียวที่จะช่วยผ่อนบาปอันหนักของ พระองค์ได้ก็คือ ปฏิบัติตามวาจาที่สัญญาไว้กับสุวรรณสาม คือไป ปรนนิบัติดูแลพ่อแม่สุวรรณสาม เหมือนที่สุวรรณสามได้เคยกระทำมา พระราชากบิลยักขราชจึงนำหม้อน้ำที่สุวรรณสามตักไว้นั้น ออกเดินทางไปศาลาที่สุวรรณสามบอกไว้ ครั้นไปถึง ทุกูลดาบสได้ยินเสียงฝีเท้าพระราชา ก็ร้องถามขึ้นว่า "นั่นใครขึ้นมา ไม่ใช่สุวรรณสามลูกเราแน่ ลูกเรา เดินฝีเท้าเบา ไม่ก้าวหนักอย่างนี้" พระราชาไม่กล้าบอกไปในทันทีว่าพระองค์ยิงสุวรรณสาม ตายแล้ว จึงบอกแต่เพียงว่า "ข้าพเจ้าเป็นพระราชา แห่งเมืองพาราณสี มาเที่ยวยิงเนื้อในป่านี้" ดาบสจึงเชิญ ให้พระราชาเสวยผลไม้ และเล่าว่าบุตรชายชื่อสุวรรณสาม เป็นผู้ดูแลจัดหาอาหารไว้ให้ ขณะนี้สุวรรณสาม ออกไปตักน้ำ อีกสักครู่ก็คงจะกลับมา พระราชาจึงตรัสด้วยความเศร้าเสียพระทัยว่า "สุวรรณสาม ไม่กลับมาแล้ว บัดนี้สุวรรณสามถูกธนูของ ข้าพเจ้าถึงแก่ ความตายแล้ว" ดาบสทั้งสองได้ยินดังนั้นก็เสียใจยิ่งนัก นางปาริกาดาบสินีนั้นแต่แรกโกรธ แค้นที่พระราชา ยิงสุวรรณสามตาย แต่ทุกูลดาบสได้ปลอบประโลมว่า "จงนึกว่าเป็นเวรกรรมของสุวรรณสามและของเราทั้งสองเถิด จงสำรวมจิตอย่าโกรธเคืองเลย พระราชาก็ได้ยอมรับผิดแล้ว" พระราชาตรัสปลอบว่า "ท่านทั้งสองอย่ากังวลไปเลย ข้าพเจ้าได้สัญญากับสุวรรณสามแล้วว่าจะปรนนิบัติ ท่านทั้งสองให้เหมือนกับที่สุวรรณสามเคยทำมาทุกประการ"


   ดาบสทั้งสองอ้อนวอนพระราชาให้พาไปที่สุวรรณสาม นอนตายอยู่ เพื่อจะได้สัมผัสลูบคลำลูกเป็นครั้งสุดท้าย พระราชาก็ทรงพาไป ครั้นถึงที่สุวรรณสามนอนอยู่ ปาริกาดาบสินีก็ช้อนเท่าลูกขึ้นวางบนตัก ทุกูลดาบส ก็ช้อนศีรษะสุวรรณสามประคองไว้บนตัก ต่างพากัน รำพันถึงสุวรรณสามด้วยความโศกเศร้า บังเอิญปาริกา ดาบสินีลูบคลำบริเวณหน้าอกสุวรรณสาม รู้สึกว่ายังอบอุ่นอยู่ จึงคิดว่าลูกอาจจะเพียงแต่ สลบไป ไม่ถึงตาย นางจึงตั้ง สัตยาธิษฐานว่า "สุวรรณสามลูกเราเป็นผู้ที่ประพฤติดีตลอดมา มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่อย่างยิ่ง เรารักสุวรรณสาม ยิ่งกว่าชีวิตของเราเอง ด้วยสัจจวาจาของเรานี้ ขอให้พิษ ธนูจงคลายไปเถิด ด้วยบุญกุศลที่สุวรรณสามได้เลี้ยงดู พ่อแม่ตลอดมา ขออานุภาพแห่งบุญจงดล บันดาลให้ สุวรรณสามฟื้นขึ้นมาเถิด" เมื่อนางต้งสัตยาธิษฐานจบ สุวรรณสามก็พลิกกายไป ข้างหนึ่งแต่ยังนอนอยู่ ทุกูลดาบสจึงตั้งสัตยาธิษฐาน เช่นเดียวกัน สุวรรณสามก็พลิกกายกลับไปอีกข้างหนึ่ง ฝ่ายนางเทพธิดาวสุนธรี ผู้ดูแลรักษาอยู่ ณ บริเวณ เขาคันธมาทน์ ก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า "เราทำหน้าที่ รักษาเขาคันธมาทน์มาเป็นเวลานาน เรารักสุวรรณสาม ผู้มีเมตตาจิต และมีความกตัญญูยิ่งกว่าใคร ด้วยสัจจวาจานี้ ขอให้พิษจงจางหายไปเถิด" ทันใดนั้น สุวรรณสามก็พลิกกายฟื้นตื่นขึ้น หายจาก พิษธนูโดยสิ้นเชิง ยิ่งกว่านั้นดวงตาของพ่อและแม่ ของสุวรรณสามก็กลับแลเห็นเหมือนเดิม พระราชา ทรงพิศวงยิ่งนัก จึงตรัสถามว่าสุวรรณสามฟื้นขึ้นมา ได้อย่างไร สุวรรณสามตอบพระราชาว่า "บุคคลใดเลี้ยงดูปรนนิบัติบิดามารดาด้วยความรักใคร่เอาใจใส่ เทวดาและมนุษย์ย่อมช่วยคุ้มครองบุคคลนั้น นักปราชญ์ย่อม สรรเสริญ แม้เมื่อตายไปแล้ว บุคคลนั้นก็จะได้ไปบังเกิด ในสวรรค์ เสวยผลบุญแห่งความกตัญญูกตเวทีของตน" พระราชากบิลยักขราชได้ยินดังนั้นก็ชื่นชมโสมนัสตรัสกับ สุวรรณสามว่า "ท่านทำให้จิตใจและดวงตาของ ข้าพเจ้า สว่างไสว ข้าพเจ้ามองเห็นธรรม ต่อนี้ไป ข้าพเจ้าจะรักษาศีล จะบำเพ็ญกุศลกิจ จะไม่เบียด เบียนชีวิตสัตว์อีกแล้ว" ตรัสปฏิญญาณแล้วพระราชาก็ทรงขอขมาโทษที่ได้กระทำ ให้สุวรรณสามเดือดร้อน แล้วพระองค์ก็เสด็จ กลับพาราณสี ทรงปฏิบัติตามที่ได้ตรัสไว้ทุกประการจนตลอดพระชนม์ชีพ ฝ่ายสุวรรณสามก็เลี้ยงดูปรนนิบัติพ่อแม่ บำเพ็ญเพียรใน ทางธรรมเมื่อสิ้นชีพก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก ร่วมกับพ่อแม่ ด้วยกุศลกรรมที่กระทำมาคือ ความเมตตากรุณาต่อมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย และความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา อันเป็นกุศลกรรมสูงสุดที่บุตรพึงกระทำต่อบิดามารดา
ว่าด้วยเรื่องของความมีเมตตาจิต ซึ่งจะทำให้ชีวิตสุขสงบได้โดยไร้ภยันอันตรายใดๆ ธรรมนั้นคือเกราะแก้วมิให้ถูกผู้ใดทำร้ายได้เป็นแน่แท้ "

http://www.dhammathai.org/chadok/legend03.php

Popular Posts